ตะขาบสุเทพ

Thrixspermum sutepense (Rolfe ex Downie) Tang et F. T. Wang

กล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางยอด ลำต้นตั้งตรงหรือเอียง รูปทรงกระบอก สั้นและแข็ง ใบเดี่ยว มี ๒-๖ ใบ เรียงสลับ รูปแถบ แผ่นใบหนาและเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามข้อข้างลำต้นตั้งแต่โคนถึงกลางต้น ตั้งขึ้นหรือเอียง ก้านช่อสีเขียวหรือสีเขียวแกมสีเหลือง หนาและอวบน้ำ ใบประดับย่อยสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวแกมสีเหลือง เรียงสลับระนาบเดียวและติดทน ดอกสีเหลืองนวลหรือสีเหลืองอมเขียว กลีบปากแฉกข้างรูปครึ่งวงกลม กลางกลีบปากมีปุ่มเนื้อเยื่อนูนสีขาว ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก สีเขียวอ่อน เมื่อแก่สีน้ำตาลเข้ม เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

ตะขาบสุเทพเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางยอด รากสีขาวหรือสีเขียวแกมสีเทา ยาว มีจำนวนมากออกตามข้อตั้งแต่กลางถึงโคนต้น ลำต้นตั้งตรงหรือเอียงสีเขียวเข้มหรือสีเขียวแกมสีน้ำตาล รูปทรงกระบอก สั้นและแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๙ มม. ยาว ๓-๑๕.๕ ซม. ส่วนปลายเรียวแคบกว่าส่วนโคน ผิวเรียบ มีกาบใบสีเขียวแกมสีน้ำตาลหุ้มตลอดลำต้น

 ใบเดี่ยว มี ๒-๖ ใบ เรียงสลับ รูปแถบ กว้าง ๐.๕-๒.๒ มม. ยาว ๔.๘-๑๖.๕ ซม. ปลายแหลมหรือหยักเป็น ๒ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน โคนแผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น ขอบเรียบ แผ่นใบหนาและเหนียวคล้ายแผ่นหนังด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่าเล็กน้อยเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบขนานจากโคนใบสู่ปลายใบ เห็นไม่ชัด

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามข้อข้างลำต้นตั้งแต่โคนถึงกลางต้น ตั้งขึ้นหรือเอียง มี ๔-๘ ช่อ ทั้งช่อยาว ๔-๘ ซม. แต่ละช่อมี ๒-๓ ดอก เรียงสลับตามแกนช่อ ก้านช่อสีเขียวหรือสีเขียวแกมสีเหลือง หนาและอวบน้ำ ยาว ๓-๕ ซม. แกนช่อสีเขียวอ่อน หนากว่าก้านช่อเล็กน้อย ยาว ๒-๔ ซม. ใบประดับสีเขียวอ่อนรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๒-๓ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแหลม ใบประดับย่อยสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวแกมสีเหลือง เรียงสลับระนาบเดียวและติดทน รูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๔-๕ มม. ปลายแหลมขอบเป็นชายครุยเล็กน้อย ด้านนอกมีสันนูนตามยาว ๑ สัน ปลายสันเป็นรยางค์แข็งและยาว ก้านดอกและรังไข่ยาวรวมกัน ๐.๗-๑.๒ ซม. ดอกสีเหลืองนวลหรือสีเหลืองอมเขียว ทยอยบานครั้งละ ๑-๒ ดอก บาน ๑-๒ วัน กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ แผ่นกลีบหนาและอวบกว่ากลีบดอกกลีบเลี้ยงบนรูปไข่กว้างหรือรูปรี กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. ปลายมนหรือแหลม โคนรูปลิ่ม กลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๔-๕.๖ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายแหลม ด้านนอกมีสันนูนตามยาว ๑ สัน ปลายสันเป็นรยางค์แข็งและยาว กลีบดอก ๓ กลีบ กลีบดอกด้านข้างรูปขอบขนานหรือรูปรีแกมรูปใบหอกกว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๘-๙ มม. ปลายแหลม กลีบปากแยกเป็น ๓ แฉก แฉกข้างสีขาวนวลหรือสีเหลืองอ่อน รูปครึ่งวงกลม กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๓-๔ มม. ปลายมน แฉกกลางหนาและอวบน้ำสีขาว ปลายตัด ขอบกลีบหยักเป็นคลื่น กลางกลีบปากมีปุ่มเนื้อเยื่อนูนสีขาว รูปคล้ายรูปไข่ ๑ ปุ่ม บริเวณโคนกลีบมีขนครุย


หนาแน่น เส้าเกสรสีขาวนวลหรือสีเหลืองอ่อน กว้างและยาวประมาณ ๒ มม. คางยาวประมาณ ๑ มม. ฝาครอบกลุ่มเรณูสีเหลืองนวล รูปเกือบกลม กว้างและยาวประมาณ ๒ มม. กลุ่มเรณูสีเหลืองสด รูปเกือบกลม แบนด้านข้างเล็กน้อย มี ๔ กลุ่ม เรียงเป็น ๒ ชุด ชุดละ ๒ กลุ่ม มีขนาดใกล้เคียงกัน กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นแอ่งอยู่ทางด้านหน้าใกล้ปลายเส้าเกสร

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๕-๗.๕ ซม. มีสันตามยาว ๖ สัน แต่ละสันแผ่เป็นปีก ผลอ่อนสีเขียวอ่อน เมื่อแก่สีน้ำตาลเข้ม เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

 ตะขาบสุเทพมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นตามป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑,๔๐๐-๑,๙๕๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เป็นผลเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมในต่างประเทศพบที่เวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะขาบสุเทพ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Thrixspermum sutepense (Rolfe ex Downie) Tang et F. T. Wang
ชื่อสกุล
Thrixspermum
คำระบุชนิด
sutepense
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Rolfe, Robert Allen
- Downie, Dorothy G.
- Tang, Tsin
- Wang, Fa Tsuan
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Rolfe, Robert Allen (1855-1921)
- Downie, Dorothy G. (1894 -1960)
- Tang, Tsin (1897-1984)
- Wang, Fa Tsuan (1899-1985)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายภัทธรวีร์ พรมนัส