จงกลนีเป็นไม้น้ำล้มลุกหลายปี มีเหง้าตั้งตรงมีก้านใบที่ใบร่วงไปแล้วหุ้มอยู่หนาแน่น และมีไหลเรียว
ใบเดี่ยว ออกจากเหง้า เรียงเวียน รูปรี รูปรีแกม รูปไข่ รูปขอบขนานกว้าง ถึงรูปเกือบกลม กว้าง ๘-๔๕ ซม. ยาว ๑๕-๕๐ ซม. คล้ายใบก้นปิด แต่มีฐานใบหยักลึกและแคบ ก้านใบติดห่างจากส่วนหยักเว้าของฐานใบมากกว่า ๕ มม. ขอบใบหยักเว้าเป็นคลื่นคล้ายแบบหยักซี่ฟัน ปลายหยักแหลมถึงคล้ายมีหนาม แผ่นใบบางค่อนข้างมีเนื้อ ลอยบนผิวน้ำ ด้านบนสีเขียวเข้มอมเทามีขนหรือตุ่มเล็ก ๆ ประปราย ด้านล่างสีม่วงแดงหรือสีแดงอมม่วงปนเขียวและมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น เส้นใบรูปฝ่ามือ เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๐.๒-๑ ม. สีน้ำตาลอมเขียว ภายในมีช่องอากาศตามยาวจำนวนมาก
ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบที่เหง้า เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๕-๒๕ ซม. ส่วนมากสีขาว พบบ้างที่มีสีชมพูหรือสีแดง บานตอนเย็นแต่หุบก่อนบ่ายของวันถัดมา ก้านดอกโดด ยาว ๐.๒-๑ ม. สีน้ำตาลอมเขียวภายในมีช่องอากาศตามยาวจำนวนมาก กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ รูปขอบขนานถึงรูปใบหอกแกมรูปขอบขนานกว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๓.๕-๘ ซม. โคนเชื่อมเป็นวงติดกับฐานดอก ปลายมนถึงแหลม ขอบเรียบ เส้นกลีบเป็นสัน ๕-๗ สัน เห็นชัด กลีบด้านนอกสีเขียว ด้านในสีคล้ายกลีบดอก มักเน่าสลายหลังดอกบาน กลีบดอก ๑๒-๓๐ กลีบ รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๕-๙ ซม. ปลายมนถึงแหลมเรียงหลายชั้น กลีบจะลดขนาดลงเรื่อย ๆ สู่ศูนย์กลางดอก เกสรเพศผู้จำนวนมาก ยาว ๑.๕-๓.๕ ซม. เรียง ๓ วง ไม่เชื่อมติดกับกลีบดอก โคนก้านชูอับเรณูวงนอกแผ่แบนกว้างคล้ายกลีบดอก วงในแคบลงแต่กว้างกว่าอับเรณูเล็กน้อย อับเรณูเล็ก รูปแถบ ไม่มีรยางค์ แตกตามยาวทางด้านใน อับเรณูวงในยาวกว่าก้านชูอับเรณู รังไข่อยู่กึ่งใต้วงกลีบ มี ๑๒-๓๐ ช่อง ฝังในฐานดอกรูปถ้วยเรียงเป็นวงคล้ายรัศมีออกจากศูนย์กลางดอก แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ไม่มีก้านยอดเกสรเพศเมีย ปลาย
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงรูปไข่ถึงเกือบกลม ยาว ๓.๕-๕ ซม. เมื่อสุกจมอยู่ใต้น้ำลักษณะคล้ายฟองน้ำ แตกไม่เป็นระเบียบ เมล็ดจำนวนมาก รูปทรงรีถึงรูปทรงกลม ยาว ๑-๒ มม. สีดำ มีสันตามแนวยาว มีเยื่อหุ้มเมล็ดคล้ายถุงฟองน้ำ
จงกลนีเป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียเขตร้อน ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค ตามแหล่งน้ำตื้น ๆ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำตื้นในเขตอบอุ่นและเขตร้อนในอินเดีย เนปาล บังกลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา จีน ไต้หวัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลีย และพบปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อนและเขตอบอุ่นที่มีอุณหภูมิสูงกว่า ๑๕ องศาเซลเซียส
ประโยชน์ เป็นไม้ประดับ ก้านดอกกินเป็นผักรากและใบใช้เป็นสมุนไพร.