คลุ้มเป็นไม้ล้มลุกหลายปี มีเหง้า ลำต้นเหนือดินขึ้นเป็นกอ สูงได้ถึง ๕ ม. แต่ละต้นรูปทรงกระบอกสีเขียว เกลี้ยงเป็นมัน ตอนปลายแตกกิ่งจำนวนมากกาบหุ้มข้อรูปใบหอกแคบ มักแห้งและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมนํ้าตาลอย่างสีฟาง
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียวตามปลายกิ่งรูปไข่ถึงรูปรี กว้าง ๗.๕-๑๘ ซม. ยาว ๑๕-๓๑.๕ ซม. ปลายแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ ด้านบนสีเขียวด้านล่างสีอ่อนกว่า เกลี้ยง เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงขนานกัน ก้านใบยาวได้ถึง ๒๐ ซม. แผ่ออกเป็นกาบเฉพาะตรงส่วนโคนหรือตลอดแนวก้าน
ช่อดอกแบบช่อเชิงลด รูปแถบ แยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ๒-๑๐ ช่อ ตั้งขึ้นหรือโค้งห้อยลง ยาวได้ถึง ๔๐ ซม. ใบประดับรูปใบหอกแคบ ยาวได้ถึง ๖.๕ ซม. ม้วนเป็นหลอดหุ้มแกนช่อดอก ร่วงง่าย แกนคู่ดอกสีขาวยาว ๒.๖-๓.๕ ซม. มีต่อมนํ้าหวานรูปไข่ ๒ ต่อม ขนาดเล็ก สีนํ้าตาล แต่ละแกนคู่ดอกมีดอก ๒ ดอก
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๓ ซม. สุกสีขาว เมล็ดรูปทรงรี มี ๑-๒ เมล็ด ยาวประมาณ ๗ มม. ผิวเรียบ ๑-๒ ด้าน อีกด้านหนึ่งโค้งเป็นหลังเต่า และเป็นร่องขรุขระ เยื่อหุ้มเมล็ดมีขนาดเล็กมาก ไม่มีรยางค์
คลุ้มมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคมักพบขึ้นตามริมห้วยในป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย จนถึงหมู่เกาะแปซิฟิก
คลุ้มมีลักษณะทั่วไปคล้ายคล้า [Schumannianthus dichotomus (Roxb.) Gagnep.] แต่คลุ้มมีใบใหญ่กว่า ช่อดอกแยกแขนงจำนวนมากกว่า ดอกเล็กกว่า และมักขึ้นในที่ร่มรำไร
ประโยชน์ เปลือกของลำต้นเหนือดินมีความเหนียวทนทานและยืดหยุ่นกว่าคล้า นิยมใช้ในงานจักสานที่มีส่วนโค้งงอ เช่น กระบุง ตะกร้า ในพังงาใช้ใบห่อขนม.