กูดผีชนิดนี้เหง้าสั้น ตั้งตรง มีเกล็ดสีน้ำตาลหนาแน่นที่ยอด รูปแถบ ยาวประมาณ ๕ มม. ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่รูปใบหอกกลับ หรืออาจเป็นรูปอื่น ๆ กว้าง ๑๕-๓๐ ซม. ยาว ๒๕-๖๐ ซม. แกนกลางสีน้ำตาลหรือน้ำตาลแดง มีขน ก้านใบสีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาลแดง เป็นมัน ยาว ๒๐-๖๐ ซม.
มีใบย่อย ๓-๘ คู่ รูปแถบ กว้างประมาณ ๗ ซม. ยาวประมาณ ๒๕ ซม. โคนมน ขอบหยักเว้าลึกไม่เป็นระเบียบ ใบย่อยที่ปลายมีขนาดและรูปร่างไม่แน่นอน กว้างประมาณ ๖ ซม. ยาวประมาณ ๓๐ ซม. แผ่นใบหนานุ่ม มีขนทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบแยกสาขาเป็นคู่ เห็นชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน ไม่มีก้านใบย่อยกลุ่มอับสปอร์เรียงต่อเนื่องตามขอบใบและส่วนที่หยักเว้าลึกเว้นบริเวณปลายใบ เมื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์แคบมาก สีขาว
กูดผีชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามไหล่เขาบริเวณที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ในป่าดิบแล้งที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐๐-๙๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และฟิลิปปินส์