กูดผา

Polypodium manmeiense H.Christ

เฟิร์นอิงอาศัย เหง้าทอดขนานยาว ใบเดี่ยว รูปขอบขนาน ขอบหยักเว้าลึกแบบขนนกหรือแบบซี่หวี ทำให้ใบเป็นแฉก ๓๐-๕๐ คู่ แฉกรูปขอบขนาน ปลายเรียวแหลม แผ่นใบบาง สีเขียวอ่อน ปลายเส้นใบมีรูหยาดน้ำ กลุ่มอับสปอร์กลมเกิดบนแผ่นใบหรือฝังบนแผ่นใบ

 กูดผาเป็นเฟิร์นอิงอาศัย เหง้าทอดขนาน แตกสาขา เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. มีเกล็ดสีน้ำตาลเทาหนาแน่นทั่วไป รูปแถบหรือรูปกึ่งสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายเรียวแหลม ขอบเรียบ

 ใบเดี่ยว แผ่นใบเว้าลึกแบบขนนก บางตอนเว้าลึกเกือบถึงเส้นกลางใบ ทำให้ใบมีลักษณะเป็นแฉกจำนวน ๓๐-๕๐ คู่ แฉกรูปขอบขนาน กว้าง ๓.๕-๖.๕ ซม. ยาว ๑๐-๒๕ ซม. ปลายเรียวแหลม แฉกที่ปลายใบเล็กกว่าแฉกอื่น ๆ แผ่นใบบางเส้นกลางแฉกสีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาลเข้ม เส้นแขนงแยกเป็นคู่เห็นได้ชัดทั้ง ๒ ด้าน ปลายสุดของเส้นแขนงมีรูหยาดน้ำรูปรีที่บริเวณใกล้ขอบใบ ก้านใบสีน้ำตาลอ่อน ยาว ๓-๑๒ ซม. โคนมีเกล็ด กลุ่มอับสปอร์กลม เล็กมาก อยู่ที่ปลายเส้นแขนงที่ระดับผิวใบหรือส่วนปุ่มของแผ่นใบ

 กูดผามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นปนกับมอสส์บนต้นไม้ใหญ่ในป่าดิบเขา บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๓๐๐-๒,๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน พม่าตอนบนและลาว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดผา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Polypodium manmeiense H.Christ
ชื่อสกุล
Polypodium
คำระบุชนิด
manmeiense
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Christ, Konrad Hermann Heinrich
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1833-1933)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด