กูดเปื๋อย

Anisocampium cumingianum C.Presl

ชื่ออื่น ๆ
กูดฮ่มค่า (ลำปาง)
เฟิร์นขึ้นบนดินตามไหล่เขาที่ร่ม เหง้าสั้น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ มีใบย่อย ๒-๖ คู่ รูปขอบขนาน ปลายแหลมเป็นติ่ง ขอบหยักเป็นพู ปลายมนและหยักซี่ฟัน แผ่นใบบาง สีเขียวอ่อน เส้นใบแยกสาขาเป็นคู่ ๑-๓ ครั้ง มีขนกลุ่มอับสปอร์กลม เรียงอยู่บนเส้นใบที่แยกสาขาแบบขนนกของแต่ละพู เมื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์กลมแกมรูปไต บาง

กูดเปื๋อยเป็นเฟิร์น เหง้าสั้น ค่อนข้างอวบ ทอดขนานใต้ดิน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. มีเกล็ดหุ้ม รูปแถบแกมรูปกึ่งสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ก้านใบยาวได้ถึง ๓๕ ซม. ตอนบนสีน้ำตาลอ่อน ตอนโคนสีน้ำตาล มีเกล็ดและขน

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒๕ ซม. ยาวประมาณ ๓๕ ซม. มีใบย่อย ๒-๖ คู่ ก้านใบสั้นหรือไม่มี ใบย่อยไม่สร้างอับสปอร์รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๔.๕ ซม. ยาวประมาณ ๑๓ ซม. ใบย่อยสร้างอับสปอร์แคบกว่า ปลายแหลมเป็นติ่ง โคนมนถึงสอบขอบหยักลึกประมาณ ๑ ใน ๕ ของระยะจากขอบใบถึงเส้นกลางใบย่อย แฉกเฉียง ปลายมนและหยักซี่ฟัน แผ่นใบสีเขียวอ่อน บาง เกลี้ยงหรือมีขนสั้น ๆ ใบย่อยที่ปลายรูปขอบขนานปลายเรียวแหลม โคนสอบ มน หรือหยักเป็นรูปหัวใจ ขอบหยักบางครั้งบริเวณใกล้โคนใบหยักลึกเกือบถึงเส้นกลางใบ เส้นใบแยกสาขาแบบขนนกจากเส้นกลางใบไปยังแต่ละหยัก บริเวณใกล้เส้นกลางใบลานเป็นร่างแห กลุ่มอับสปอร์กลม อยู่บนเส้นใบที่แยกสาขาแบบขนนก เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์กลมแกมรูปไตบาง และสีซีด

 กูดเปี๋อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นบนไหล่เขาบริเวณที่เป็นดินทรายหรือโคลน ในป่าเบญจพรรณและป่าดิบเขา บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๓๐-๑,๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดียตอนใต้ ศรีลังกา ลาว และฟิลิปปินส์.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดเปื๋อย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Anisocampium cumingianum C.Presl
ชื่อสกุล
Anisocampium
คำระบุชนิด
cumingianum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Presl, Carl (Karl, Carel, Carolus) Borivoj (Boriwog, Boriwag)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1794-1852)
ชื่ออื่น ๆ
กูดฮ่มค่า (ลำปาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด