กูดแต้มเป็นเฟิร์น เหง้าสั้น ตั้งตรงหรือค่อนข้างตั้งตรงมีเกล็ดแข็งสีน้ำตาล เป็นมัน รูปแถบแกมรูปกึ่งสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ขอบเกล็ดสีจางกว่าส่วนอื่น
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓๐-๕๐ ซม. ยาว ๓๐-๖๐ ซม. ด้านบนแกนกลางมีขนมาก ด้านล่างเกลี้ยง ก้านใบสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม ยาว ๓๐-๘๐ ซม. โคนมีเกล็ดแน่น ตอนบนมีเกล็ดประปราย
ใบย่อย ๑-๕ คู่ ใบสร้างอับสปอร์แคบกว่าใบไม่สร้างอับสปอร์ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๕-๑๐ ซม. ยาว ๒๐-๓๐ ซม. ปลายเรียวแหลม มีติ่ง โคนสอบถึงมน ขอบค่อนข้างเรียบหรือหยักซี่ฟัน ใบย่อยที่ปลายใหญ่กว่าใบอื่นเล็กน้อย
กูดแต้มมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นบนดินตามไหล่เขาในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา บนพื้นที่ระดับต่ำถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๔๐๐ ม. ในต่างประเทศพบตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยด้านตะวันออก จีนตอนใต้ พม่า ศรีลังกา และภูมิภาคมาเลเซีย.