กูดตั่ง

Brainea insignis (Hook.) J.Sm.

ชื่ออื่น ๆ
กูดดอย (เหนือ), หัสแดง (เลย)
เฟิร์นขึ้นบนดินตามไหล่เขา ลำต้นตั้ง ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ใบย่อยมีจำนวนมาก เรียงตัวสลับบนแกนกลางรูปขอบขนานหรือรูปแถบ ปลายเรียวยาวเป็นหาง โคนสอบถึงรูปหัวใจ ขอบใบจักฟันเลื่อย แผ่นใบเหนียว กลุ่มอับสปอร์อาจเกิดเป็นพืดบนใบย่อยที่ลดรูปเป็นแถบแคบ หรือเกิดบนเส้นใบย่อยที่สานกับเส้นกลางใบย่อยเป็นร่างแห เห็นเรียงเป็นเส้นยาวชิดและขนานกับเส้นกลางใบย่อย

กูดตั่งเป็นเฟิร์น ลำต้นตั้ง ขนาดใหญ่ สูงได้มากกว่า ๕๐ ซม. ปลายยอดมีเกล็ดหนาแน่น เกล็ดแคบ สีน้ำตาลเข้ม โดยเฉพาะตอนกลางของเกล็ด กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ ซม. โคนมน ขอบเรียบ ผิวเรียบ

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ก้านใบสีน้ำตาลอ่อนอวบหนา ยาว ๑๕-๓๐ ซม. โคนมีเกล็ดหนาแน่น ใบมีรูปร่างแตกต่างกัน ๒ ชนิด ใบไม่สร้างอับสปอร์รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้างประมาณ ๓๐ ซม. ยาว ๔๐-๗๐ ซม. ปลายแหลม ใบย่อยมีหลายคู่ รูปแถบ กว้างประมาณ ๑.๒ ซม. ยาวประมาณ ๑๕ ซม. ปลายแหลม โคนสอบถึงรูปหัวใจ ขอบจักฟันเลื่อย เส้นใบแยกสาขาเป็นคู่ สานกันเป็นร่างแห บริเวณใกล้เส้นกลางใบย่อย แผ่นใบบาง ไม่มีก้านใบย่อย ใบสร้างอับสปอร์แคบกว่า ใบย่อยกว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑๐ ซม. กลุ่มอับสปอร์อยู่ทั่วไปบนแผ่นใบด้านล่างไม่มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์

 กูดตั่งมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นบนดินตามไหล่เขาบริเวณที่ค่อนข้างแห้งในป่าดิบเขา บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐-๑,๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบแถบเทือกเขาหิมาลัย จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดตั่ง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Brainea insignis (Hook.) J.Sm.
ชื่อสกุล
Brainea
คำระบุชนิด
insignis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, William Jackson
- Smith, John
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, William Jackson (1785-1865)
- Smith, John (1798-1888)
ชื่ออื่น ๆ
กูดดอย (เหนือ), หัสแดง (เลย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด