กูดต้องเป็นเฟิร์น เหง้าทอดขนานใต้ดิน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. มีเกล็ดสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลดำ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. มีขนที่ขอบหรือทางด้านล่าง
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ รูปขอบขนานถึงรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๕๐ ซม. ยาว ๔๐-๗๐ ซม. ก้านใบสีน้ำตาล ยาวประมาณ ๘๐ ซม. โคนมีเกล็ดสีน้ำตาลเข้ม
ใบย่อยมีประมาณ ๕ คู่ รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้างประมาณ ๕.๕ ซม. ยาวประมาณ ๓๐ ซม. ปลายเป็นติ่งยาว โคนสอบ ขอบเว้าเป็นคลื่นหรือหยัก แผ่นใบสีเหลืองอมเขียวถึงสีเขียว บางแต่เหนียว เส้นใบสานกันเป็นร่างแหก้านใบย่อยสั้น ใบย่อยที่ปลายมีขนาดใหญ่กว่า กลุ่มอับสปอร์เรียงเป็นแถว ๒ ข้างเส้นกลางใบย่อยในแต่ละหยัก มีขนปกคลุมไม่มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์
กูดตองมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ ขึ้นตามไหล่เขาในป่าดิบแล้ง บนพื้นที่ระดับต่ำถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่ตอนเหนือของเวียดนาม พม่า และภูมิภาค มาเลเซีย.