กูดต้นเป็นเฟิร์นต้น ลำต้นตั้งตรง สูงได้กว่า ๒ ม. มีเกล็ดปกคลุม และมีรอยก้านใบที่หลุดร่วงไป รากอากาศเป็นเส้นแข็งสีดำ
ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเป็นกลุ่มบริเวณใกล้ยอด แกนกลางสีน้ำตาลอ่อน มีหนามสั้น ๆ บริเวณโคนส่วนตอนบนขรุขระหรือเรียบ ก้านใบยาวประมาณ ๑ ม. มีหนามสั้น ๆ ทั่วไป โคนมีเกล็ดสีม่วงแดงหรือสีน้ำตาล เกล็ดรูปแถบกว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ ซม. กลุ่มใบย่อยติดอยู่กับแกนกลาง มีหลายคู่ มีรูปร่างต่างกันหลายแบบขนาดใหญ่ที่สุดกว้างประมาณ ๑๘ ซม. ยาวประมาณ ๕๐ ซม. ปลายเรียวแหลมยาว แกนกลุ่มใบย่อยสีน้ำตาลหรือน้ำตาลอ่อนตอนโคนสีม่วงแดง มีขนสีน้ำตาลและเกล็ดห่าง ๆ กลุ่มใบย่อยคู่ล่าง ๆ เรียงห่างกันมากกว่า ๑๐ ซม.
ใบย่อยมีมากกว่า ๒๕ คู่ เรียงห่างกันประมาณ ๒.๕ ซม. รูปเคียวหรือรูปใบหอก กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๑๐ ซม. ปลายเรียวแหลม ขอบหยักเว้าลึกเกือบถึงเส้นกลางใบย่อย หยักรูปเดียว กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายมน ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบบาง เส้นกลางใบมีเกล็ดประปราย เกล็ดแบน สีเข้ม ปลายเรียวแหลม ขอบเรียบเส้นใบแยกสาขาเป็นคู่ ๗-๑๐ คู่ เห็นได้ชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบย่อยสั้น กลุ่มอับสปอร์กลม เกิดบนฐานที่พองนูนใกล้เส้น กลางใบย่อย เมื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์บาง แผ่ราบ มองเห็นได้ ทางด้านล่างของกลุ่มอับสปอร์ที่เจริญเต็มที่แล้ว
กูดต้นมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขึ้นบนดินบริเวณใกล้ลำธาร ในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๔๐๐-๑,๘๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่า กัมพูชา มาเลเซียและเกาะบอร์เนียว
ลำต้นและรากใช้เป็นเครื่องปลูกกล้วยไม้.