โงงงังเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๕ ม. เปลือกนอกเรียบถึงแตกเป็นสะเก็ดหรือลอกเป็นแผ่น สีน้ำตาลแดงเปลือกในสีชมพูหรือสีน้ำตาล มียางใสสีเหลือง เมื่ออ่อนมีหนามตามลำต้น
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ รูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ หรือรูปรี กว้าง ๒-๕ ซม.ยาว ๕.๕-๑๓.๕ ซม. ปลายแหลมถึงเป็นติ่งแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านล่างมีนวล เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบนด้านล่างเป็นสันนูน เส้นแขนงใบข้างละ ๒๕-๓๖ เส้น เรียงขนานแล้วไปเชื่อมกันใกล้ขอบใบเป็นเส้นขอบในเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๐.๓-๑.๒ ซม.
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด ยาว ๑๐-๒๐ ซม. แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ก้านดอกยาว ๒-๓ มม. ดอกสมมาตรตามรัศมี เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๗ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ สีแดงอมม่วง หนาคล้ายแผ่นหนังเกลี้ยง เรียง ๒ วง กลีบวงนอก ๒ กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๔-๕ มม. กลีบวงใน ๓ กลีบ รูปไข่กว้างหรือเกือบกลม กว้างและยาว ๓-๕ มม. มีเส้นตามยาวกลีบดอก ๕ กลีบ สีแดงหรือสีแดงอมม่วง รูปไข่กลับกว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๔-๗ มม. ปลายตัด หนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง มีเส้นตามยาว ปลายเส้นแยก ๒ แฉก เกสรเพศผู้ ๓ กลุ่ม แต่ละกลุ่มมี ๓๕-๕๐ เกสร ยาว ๔-๕ มม. โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน อับเรณูสีเหลือง มีเกล็ด ๓ เกล็ด สีเหลือง เรียงสลับกับกลุ่มเกสรเพศผู้ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๒-๓ มม.มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๖-๙ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๓ ก้าน ยาว ๒-๓ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู ทรงรูปไข่ กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๐.๗-๑ ซม. สีแดงอมม่วง เกลี้ยง มีกลีบเลี้ยงติดทนหุ้มผลประมาณ ๔ ใน ๕ ของความยาวผลเมล็ดรูปขอบขนาน มีปีกเป็นแผ่นบางล้อมรอบ กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๔-๖ มม.
โงงงังมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบในป่าพรุ ที่สูงใกล้ระดับทะเล ออกดอกเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนเมษายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา มาเลเซียเกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว
ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้างและทำเครื่องเรือน.