แข้งกวางดงเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น สูง ๓-๕ ม. เรือนยอดรูปกรวยแหลม หรืออาจแผ่กว้างทึบ ลำต้นค่อนข้างเปลา เปลือกเรียบ สีน้ำตาลอ่อน เนื้อไม้สีขาวแกมน้ำตาล กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม มีขนสากทั่วไป
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๕-๑๐ ซม. ยาว ๑๐-๒๐ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมนหรือสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบบาง ด้านบนมีขนสาก ด้านล่างมีขนนุ่มหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๕ เส้น ปลายเส้นโค้งจรดกันก่อนถึงขอบใบ ด้านบนเป็นร่อง ด้านล่างนูน เส้นใบย่อยขนานถี่ ก้านใบยาว ๑-๑.๕ ซม. มีขนแน่น หูใบระหว่างก้านใบเว้าเป็น ๒ แฉก มีติ่งเล็กตรงกลางระหว่างแฉก
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง กว้างได้ถึง ๑๕ ซม. ยาวได้ถึง ๓๐ ซม. ทุกส่วนมีขนสั้นนุ่มทั่วไป ดอกเล็ก สีขาวหรือสีนวล กลีบเลี้ยงโคนติดกันปลายแยก ๔(-๕) แฉก กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดรูปทรงกระบอก ยาวไม่เกิน ๕ มม. ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๔(-๕) แฉก เกสรเพศผู้ ๔-๕ อัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว
ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปกลม เล็ก มี ๒ พู มีเมล็ดมาก
แข้งกวางดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าสน และชายป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐๐-๑,๗๐๐ ม. ในต่างประเทศพบทั่วไปในเอเชียเขตร้อน.