ชมพู่นกเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. กิ่งรูปทรงกระบอกหรือแบนเล็กน้อย เปลือกสีเทาอมขาวหรือสีน้ำตาลเข้ม
ใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบ พบน้อยที่เรียงตรงข้ามรูปรี กว้าง ๙.๕-๑๔ ซม. ยาว ๒๓-๔๖ ซม. ปลายแหลมโคนเว้ารูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีจางกว่า เส้นกลางใบเป็นร่องตื้นทางด้านบน เส้นแขนงใบข้างละประมาณ ๑๓ เส้น ไม่มีเส้นขอบในหรืออาจมีเส้นขอบในใกล้ปลายใบ ก้านใบยาว ๑-๓ มม.
ช่อดอกคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกเหนือรอยแผลใบแต่ละช่อมีดอก ๔-๖ ดอก ก้านช่อยาว ๐.๓-๒ ซม. แกนช่อรูปทรงกระบอก ก้านดอกยาว ๐.๔-๒.๕ ซม. ดอกสีขาวหรือสีแดง ฐานดอกรูปถ้วย ปลายผายคล้ายปากแตร ยาว ๑.๕-๒ ซม. เมื่อแห้งเป็นสันตามยาวกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกับฐานดอก ปลายแยกเป็น ๔ แฉก เรียง ๒ ชั้น ชั้นละ ๒ แฉก แฉกชั้นในใหญ่กว่าชั้นนอก แต่ละแฉกรูปเกือบกลมหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๗ มม. ยาว ๑-๑.๒ ซม. กลีบดอก ๔ กลีบ แยกกันเป็นอิสระ รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๒ ซม. แผ่นกลีบมีต่อมจำนวนมาก เกสรเพศผู้จำนวนมาก แยกกันเป็นอิสระ เกสรรอบนอกยาวกว่ารอบในอับเรณูรูปขอบขนานแกมรูปแถบ ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ก้านชูอับเรณูเรียว สีขาวหรือสีแดง รอบนอกยาวประมาณ ๒ ซม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาว ๓.๕-๔ ซม. ยื่นเหนือกลุ่มเกสรเพศผู้ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ ซม. ปลายผลมีกลีบเลี้ยงและก้านยอดเกสรเพศเมียติดทน
ชมพู่นกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่าดิบหรือป่าไผ่ มักขึ้นบริเวณริมลำธาร ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๗๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย บังกลาเทศ เมียนมา และเวียดนาม.