ข้าวก่ำเป็นไม้ล้มลุก สูง ๒-๕ ซม. ลำต้นสั้นมาก
ใบเดี่ยว เรียงถี่ตรงข้ามสลับตั้งฉากและแผ่ติดดินรูปรี รูปใบหอก หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๕-๖ ซม. ยาว ๑๔-๑๗ ซม. ปลายแหลม โคนสอบเรียว ขอบจักมนถี่ แผ่นใบบางมีขนนุ่มประปรายทั้ง ๒ ด้าน ด้านล่างมีสีอ่อนกว่าด้านบนเส้นกลางใบเห็นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น ก้านใบยาว ๓-๔ ซม. มีขนสั้น ใบประดับลักษณะเหมือนใบขนาดเล็ก ไม่มีก้าน มี ๒ คู่ ขนาดไม่เท่ากันคู่ล่างใหญ่กว่า กว้างประมาณ ๘ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายมน ติดทน
ช่อดอกแบบช่อฉัตร ตั้งตรง ออกที่ปลายกิ่ง กว้างได้ถึง ๒ ซม. ยาวได้ถึง ๒๐ ซม. ช่อย่อยประกอบด้วยดอกขนาดเล็ก ๘-๑๐ ดอก ออกตรงข้ามบนแกนช่อเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นห่างกัน ๐.๕-๒ ซม. ก้านดอกยาว ๐.๒-๑ ซม. ออกในแนวเฉียงขึ้น แกนกลางช่อและก้านดอกมีขน ดอกสีม่วงเข้ม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันคล้ายรูประฆัง ปลายแยกเป็นรูปปากเปิด ซีกบนมี ๓ แฉก แฉกกลางใหญ่กว่าแฉกข้างซึ่งมี ๒ แฉก ปลายแฉกกลม มีเส้นตามยาวเห็นชัดแฉกข้างสั้นกว่าแฉกกลาง ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมซีกล่างมี ๑ แฉก ยาวเท่าแฉกกลางด้านบน ปลายมนและโค้งขึ้น ด้านนอกมีขนต่อมใสหนาแน่น กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายแยกเป็นรูปปากเปิด ซีกบนมี ๔ แฉก ปลายมน ขนาดประมาณ ๒ มม. ซีกล่างยาวประมาณ ๔ มม. ปลายป้านและโค้งเข้าโคนหลอดด้านบนมีเดือยยาว ๗ มม. และตั้งฉากกับหลอดกลีบดอก เกสรเพศผู้มี ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน อยู่ภายในหลอดกลีบดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๔ พู แต่ละพูมี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ปลายตัด
ผลแยกคล้ายเป็นผลย่อยเปลือกแข็งเมล็ดเดียวมี ๔ ผล ทรงรูปไข่ มีขนาดเล็ก สีดำหรือสีน้ำตาล ผิวมีลายเป็นร่างแหละเอียด มีกลีบเลี้ยงติดทน
ข้าวก่ำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบขึ้นตามดินทราย ที่สูงจากระดับทะเล ๑๐๐-๙๐๐ ม. ออกดอกเดือนตุลาคมถึงธันวาคม เป็นผลเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่เวียดนาม.