กระดังงาเป็นไม้ต้น สูง ๑๐-๒๐ ม. เปลือกสีเทา มีรอยแผลใบขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วไป กิ่งตั้งฉากกับลำต้นปลายย้อยลง กิ่งอ่อนมีขน กิ่งแก่ค่อนข้างเรียบ
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรูปไข่ยาว กว้าง ๔-๘ ซม. ยาว ๙-๒๐ ซม. ปลายแหลม โคนมนหรือเว้าและเบี้ยวเล็กน้อยขอบเรียบหรือเป็นคลื่น เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๙ เส้น ปลายโค้งจรดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ ใบอ่อนมีขนทั้ง ๒ ด้าน ใบแก่มักมีขนมากตามเส้นแขนงใบและเส้นกลางใบ ก้านใบยาว ๑-๑.๕ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกห้อยรวมกันบนกิ่งเหนือรอยแผลใบ ช่อหนึ่ง ๆ มี ๓-๖ ดอก ก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขน ดอกใหญ่ ก้านดอกยาว ๒-๕ ซม. มีขน โคนก้านดอกมีใบประดับรูปไข่ปลายแหลม ๒ ใบ ขนาด ๑-๒ มม. ร่วงง่าย กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ รูปสามเหลี่ยม ขนาด ๕-๗ มม. มีขนกลีบดอกเรียงสลับกัน ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ แต่ละกลีบรูปขอบขนานปลายแหลม กว้าง ๐.๖-๑.๖ ซม. ยาว ๕-๙ ซม.
ผลเป็นผลกลุ่ม อยู่บนแกนตุ้มกลม ๔-๑๕ ผล แต่ละผลรูปไข่ กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. ก้านผลยาว ๑-๒ ซม. ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีเขียวคล้ำจนเกือบดำ มี ๒-๑๒ เมล็ด สีน้ำตาลอ่อน รูปไข่แบน กว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๙ มม. หนาประมาณ ๒ มม.
นิยมปลูกเป็นไม้ประดับในประเทศไทยทั่วทุกภาคในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคมาเลเซีย
ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดหรือกิ่งตอน ไทยใช้ดอกกระดังงาปรุงยาบางตำรับแก้ลมและบำรุงเลือด ใบและเนื้อไม้ต้มกินเป็นยาขับปัสสาวะ (โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ, ๒๕๒๑) นอกจากนี้ ยังใช้อบน้ำทำน้ำเชื่อมและปรุงขนมหวานบางชนิด ในอินโดนีเซียใช้เปลือกแก้คัน มาเลเซียใช้ใบแก้คัน และใช้ดอกปรุงในยารักษาโรคหืด (Burkill, 1966)