กูดดอย

Blechnum orientale L.

ชื่ออื่น ๆ
กูดข้างฟาน (แม่ฮ่องสอน), มหาสดำ (ตะวันออกเฉียงใต้)
เฟิร์นขึ้นบนดินตามไหล่เขา เหง้าตั้ง ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ รูปขอบขนาน ก้านใบมีร่องตามยาว ใบย่อยมีจำนวนมาก เรียงตัวเฉียงกับแกนกลาง ใบย่อยรูปขอบขนานหรือรูปแถบ ปลายเรียวยาวเป็นหาง โคนมนหรือกึ่งตัด ขอบเรียบ แผ่นใบเหนียว กลุ่มอับสปอร์เป็นแถบแคบ ๆ ทาบตลอดตามความยาวของเส้นกลางใบย่อย

กูดดอยเป็นเฟิร์น ลำต้นตั้ง อาจสูงได้มากกว่า ๕๐ ซม. ลำต้นมีเกล็ดรูปแถบ สีน้ำตาล กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๒ ซม. ปลายเกล็ดเรียวยาวเป็นหาง

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ รูปขอบขนาน กว้าง ๔๕-๖๐ ซม. ยาวประมาณ ๑.๒ ม. ก้านใบสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลแดงเมื่อใบยังอ่อน มีร่องตามยาว อาจยาวได้ถึง ๖๐ ซม. โคนมีเกล็ดหนาแน่น ตามก้านใบมีใบที่ลดขนาดรูปร่างคล้ายติ่งหูอยู่ทั่วไป

 ใบย่อยมีจำนวนมาก เรียงตัวเฉียงกับแกนกลาง ห่างกัน ๒-๓ ซม. รูปแถบหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๒-๒ ซม. ยาวประมาณ ๓๐ ซม. ปลายเรียวยาวเป็นหาง โคนมนหรือกึ่งตัด ขอบเรียบ เส้นใบแยกสาขาเป็นคู่ใกล้เส้นกลางใบย่อยเห็นได้ชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน แผ่นใบเหนียว ใบย่อยไม่มีก้านกลุ่มอับสปอร์เป็นแถบแคบ ๆ ทาบตลอดความยาวของเส้นกลางใบย่อย บางครั้งพบกลุ่มอับสปอร์กว้างมากกว่า ๑ มม. เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์แคบ มักเปิดออกก่อนที่อับสปอร์จะแก

 กูดดอยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นบนดินตามไหล่เขาที่ได้รับแสงเต็มที่ หรือริมลำธารในที่ค่อนข้างร่ม บนพื้นที่ระดับต่ำถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบบริเวณเขตศูนย์สูตรของทวีป เอเชีย ออสเตรเลีย หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก และญี่ปุ่น.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดดอย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Blechnum orientale L.
ชื่อสกุล
Blechnum
คำระบุชนิด
orientale
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
กูดข้างฟาน (แม่ฮ่องสอน), มหาสดำ (ตะวันออกเฉียงใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด