กูดจักเข็บชนิดนี้เหง้าทอดขนาน มีเกล็ดเป็นแผ่นบางสีน้ำตาลหนาแน่น เกล็ดกว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. ปลายเรียวแหลม
ใบเดี่ยว ติดถี่ตามลำต้น ขนาดและรูปร่างของแผ่นใบแตกต่างกัน รูปแถบแกมรูปใบหอกแคบ กว้างประมาณ ๓.๕ ซม. ยาวประมาณ ๔๐ ซม. ส่วนกว้างที่สุดของแผ่นใบอยู่ใกล้โคน ปลายและโคนค่อย ๆ เรียวเล็กลง ขอบเรียบหรือเว้าเป็นคลื่น แผ่นใบบาง สีเขียวอ่อน เส้นกลางใบเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบเป็นร่างแห มีเส้นสั้นภายในช่องร่างแห ก้านใบสั้นเห็นไม่ชัดเจนหรืออาจยาวได้ถึง ๒ ซม. กลุ่มอับสปอร์กลมถึงรูปขอบขนาน ขนาดใหญ่ถึง ๔ มม. อยู่บนเส้นใบที่สานเป็นร่างแหเรียงเป็นแถว ๒ ข้างขอบใบ ที่โคนของกลุ่มอับสปอร์ยกระดับทำให้เห็นเป็นรอยบุ๋มทางด้านบนของใบ
กูดจักเจ็บชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นปนกับมอสส์บนต้นไม้ใหญ่ในป่าดิบเขา บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบแถบเทือกเขาหิมาลัย ทิเบต ตะวันตกเฉียงใต้ของจีนพม่าตอนเหนือ และภูมิภาคอินโดจีน