กูดง้องเป็นเฟิร์น เหง้าทอดขนานยาว หนา มีเกล็ดสีน้ำตาลเป็นแผ่นบางอยู่หนาแน่น กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๘ มม.
ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ใบสร้างอับสปอร์และใบไม่สร้างอับสปอร์มีรูปร่างแตกต่างกันชัดเจน ใบไม่สร้างอับสปอร์ก้านใบยาว ๓๐-๔๐ ซม. มีเกล็ดหนาแน่นทั่วไป เกล็ดทางตอนบนของก้านใบสีน้ำตาลอ่อน แผ่นใบมีรูปร่างไม่แน่นอน เช่น รูปขอบขนานแกมรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน กว้าง ๒๐-๔๐ ซม. ยาว ๓๕-๖๐ ซม.
ใบย่อย ๓-๕ คู่ รูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๒.๕-๓.๕ ซม. ยาว ๑๐-๒๐ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม โคนสอบแคบหรือมันไม่เท่ากัน ขอบหยักซี่ฟัน มักเป็นคลื่น เส้นกลางใบกลมและมีเกล็ดเล็ก ๆ ทางด้านล่างเส้นใบเป็นร่างแห นูนเห็นชัดเจนทางด้านล่าง มีเส้นสั้นอยู่ตามช่องร่างแห ใบค่อนข้างเหนียว เรียบ ใบย่อยที่ปลายมีรูปร่าง ใกล้เคียงกับใบย่อยอื่น ๆ อาจจะใหญ่กว่าเล็กน้อย ปลายใบมีตาที่สามารถเจริญเป็นต้นใหม่ได้
ใบสร้างอับสปอร์ยาวใกล้เคียงกับใบไม่สร้างอับสปอร์ก้านใบยาวประมาณ ๕๕ ซม. แผ่นใบกว้างประมาณ ๒๐ ซม. ยาวประมาณ ๔๐ ซม. ใบย่อย ๔-๖ คู่ รูปแถบ กว้าง ๒-๗ มม. ยาว ๔-๑๒ ซม. ปลายเรียวแหลม โดยทั่วไปใบย่อยจะยาวมากกว่ากว้างประมาณ ๑๕ เท่า กลุ่มอับสปอร์อยู่ทั่วไปบนแผ่นใบย่อย
กูดง้องมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามไหล่เขาบนดินหรือบนก้อนหินบริเวณใกล้ลำธารในป่าดิบ บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๘๐๐-๑,๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ บังกลาเทศ และพม่า.