กูดขี้หลับ

Thelypteris triphylla K.Iwats. var. parishii (Bedd.) K.Iwats.

เฟิร์นขึ้นบนดิน เหง้าทอดขนานยาวใต้ดิน ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ รูปขอบขนาน มีใบย่อย ๑-๔ คู่ หรือมากกว่า ใบย่อยที่ปลายใหญ่ที่สุด รูปขอบขนานแกมรูปใบหอกปลายใบเป็นติ่งยาวถึงเรียวแหลม เส้นใบย่อยสานกันเป็นรูปจันทร์เสี้ยว กลุ่มอับสปอร์ขยายขนาดเป็นรูปคลุมเส้นใบย่อยอับสปอร์มีขน

กูดขี้หลับเป็นเฟิร์น เหง้าทอดขนานยาวใต้ดิน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ มม. มีเกล็ดสีน้ำตาลและขน เกล็ดกว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๕ มม.

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ รูปขอบขนาน ก้านใบสีน้ำตาลอ่อน ยาวประมาณ ๒๐ ซม. อยู่ห่าง ๆ กัน โคนมีขนและเกล็ดสีดำ

 ใบย่อยมี ๑-๔ คู่ หรือมากกว่า เรียงตรงข้ามกันรูปขอบขนานถึงรูปเดียว กว้าง ๑.๒-๑.๕ ซม. ยาว ๔-๑๕ ซม. บิดงอไม่เท่ากัน ปลายเป็นติ่งยาว โคนสอบถึงมน ใบย่อยที่ปลายใบใหญ่ที่สุด รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๑.๘-๔ ซม. ยาว ๑๘-๒๔ ซม. ปลายเป็นติ่งยาวถึงเรียวแหลมโคนสอบถึงมน ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นไม่สม่ำเสมอ แผ่นใบสีเขียวเข้ม บาง เมื่อแห้งใบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง เส้นใบสานกันเป็นร่างแห เส้นใบย่อยสานกันเป็นรูปจันทร์เสี้ยว กลุ่มอับสปอร์ขยายขนาดเป็นรูปคลุมเส้นใบย่อย ไม่มีเยื่อคลุมอับสปอร์มีขน

 กูดขี้หลับมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ขึ้นริมลำธารในป่าดิบแล้งบนพื้นที่ระดับต่ำถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่ไต้หวัน หมู่เกาะริวกิว อินเดีย พม่า และภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดขี้หลับ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Thelypteris triphylla K.Iwats. var. parishii (Bedd.) K.Iwats.
ชื่อสกุล
Thelypteris
คำระบุชนิด
triphylla
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Iwatsuki, Kunio
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. parishii
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Bedd.) K.Iwats.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1934- )
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด