กูดขาบ

Didymochlaena truncatula (Sw.) J.Sm.

ชื่ออื่น ๆ
กูดฮาวาย (กรุงเทพฯ)
เฟิร์นขึ้นบนดิน เหง้าตั้งตรง ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ใบอ่อนมีสีน้ำตาลแดง แผ่นใบรูปขอบขนาน มีใบย่อย ประมาณ ๒๐ คู่ ใบย่อยรูปขอบขนาน ปลายโค้งมนมีติ่ง โคนเฉียงมีหนามเล็ก ๆ ขอบเรียบ แผ่นใบสีเขียวเข้มค่อนข้างหนากลุ่มอับสปอร์รูปขอบขนาน อยู่บนเส้นใบใกล้ขอบใบ มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์

กูดขาบเป็นเฟิร์น เหง้าตั้งตรง อาจสูงจากพื้นดินกว่า ๑๐ ซม. มีเกล็ดสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลเข้มและขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น เกล็ดกว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๒ มม.

 ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๔๐ ซม. ยาวประมาณ ๑ ม. ใบอ่อนสีน้ำตาลแดงเมื่อแก่สีเขียว แกนกลางมีขนและเกล็ด ก้านใบสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม ยาว ๕๐-๗๐ ซม. มีเกล็ดและขนแน่นทั่วไป ด้านบนเป็นร่องตามยาว

 กลุ่มใบย่อยตามแกนกลางใบประกอบมีประมาณ ๒๐ คู่ รูปใบหอกแกมรูปแถบ กว้างประมาณ ๔ ซม. ยาวประมาณ ๒๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปกึ่งตัด ใบย่อยตามแกนกลุ่มใบย่อยที่มีร่องตรงกลางมีก้านใบย่อยสั้นหรือไม่มี รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๘ มม. ยาวประมาณ ๑.๘ ซม. ปลายโค้งมนมีติ่ง โคนเฉียงมีหนามเล็ก ๆ ขอบเรียบหรือจักฟันเลื่อยห่าง ๆ แผ่นใบสีเขียวเข้ม ค่อนข้างหนา เส้นใบบาง แยกสาขาเป็นคู่กลุ่มอับสปอร์รูปขอบขนาน อยู่บนเส้นใบใกล้ขอบใบ เมื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์ยาวประมาณ ๒ มม.

 กูดขาบมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบขึ้นบริเวณดินที่มีขุยอินทรีย์สูง ตามไหล่เขาในป่าดิบชื้น บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๓๐๐-๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบทั่วไปในเขตร้อน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดขาบ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Didymochlaena truncatula (Sw.) J.Sm.
ชื่อสกุล
Didymochlaena
คำระบุชนิด
truncatula
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Swartz, Olof (Peter)
- Smith, John
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Swartz, Olof (Peter) (1760-1818)
- Smith, John (1798-1888)
ชื่ออื่น ๆ
กูดฮาวาย (กรุงเทพฯ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด