ชมพูเชียงดาวชนิดนี่เป็นไม้ล้มลุกหลายปีและเป็นพืชกึ่งเบียน ลำต้นตั้ง สูง ๐.๔-๑.๕ ม. สีดำแกมสีม่วงเข้ม ต้นเดี่ยว ไม่แตกกิ่งหรือแตกกิ่งเล็กน้อยส่วนโคนมีเนื้อไม้ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๗ มม. กิ่งเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสั้นนุ่มเรียงเป็น ๓ หรือ ๔ แถว
ใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบข้อ ข้อละ ๓-๔ ใบ รูปไข่แกมรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๐.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๔.๕ ซม. ปลายแหลมโคนสอบเรียว ขอบหยักลึกสุดแบบขนนก จำนวนหยัก ๕-๑๐ คู่ รูปแถบแกมรูปใบหอก ขอบเป็นขนแข็งแกมจักฟันเลื่อย แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม มีประสีขาวด้านล่างเป็นนวล มีขนสั้นนุ่มประปรายทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๗ เส้น ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขนสั้นนุ่มตามขอบ
ช่อดอกแบบช่อกระจะ โปร่ง ออกตามซอกใบ เมื่อเป็นผลยาวได้ถึง ๔๐ ซม. ก้านช่อดอกสีม่วงเข้มก้านดอกสั้นมากหรือไร้ก้าน ใบประดับลักษณะคล้ายใบขนาดเล็ก กลีบเลี้ยงสีขาวนวลและมีสีม่วงเข้มตามเส้นกลีบ โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. ปลายแยกเป็นหยักซี่ฟัน ๕ หยัก หยักด้านล่างขนาดเล็ก รูปแถบ อีก ๔ หยัก ด้านข้างรูปใบหอกกลับ ยาวประมาณ ๓ มม. ขอบจักฟันเลื่อย มีขนแบบขนแกะประปราย กลีบดอกรูปปากเปิด ยาวประมาณ ๓ ซม. สีชมพูหรือสีม่วงเข้มเกลี้ยง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดตรง ยาวประมาณ ๒ ซม. ปลายมี ๕ แฉก แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๒ แฉก เชื่อมติดกันเป็นรูปคล้ายหมวกสีน้ำตาลออกแดง กว้าง ๒.๕-๓ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายโค้งลงส่วนปลายสุดเป็นจะงอยสั้น ๆ ขอบด้านล่างมีหยักแหลมข้างละ ๑ หยัก ซีกล่างกางออก กว้างประมาณ ๑.๒ ซม. ยาวประมาณ ๑ ซม. มี ๓ แฉก แฉกกลางรูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. แฉก
ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู ทรงรูปไข่ มักแบนข้าง ปลายเป็นติ่งแหลมอ่อน กว้าง ๖-๗ มม. ยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. เมื่อแก่แตกเป็น ๒ ซีก เมล็ดขนาดเล็กมีจำนวนมาก รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๐.๑ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ มม. ตรงหรือโค้ง มีริ้วตามยาว
ชมพูเชียงดาวชนิดนี่เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวและหายากของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือพบตามที่โล่งแจ้งที่มีต้นไม้แคระขึ้นปะปนตามเขาหินปูน หรือขึ้นเป็นกลุ่มแทรกปะปนกับกอหญ้าและพุ่มไม้เตี้ย ๆ ที่สูงจากระดับทะเล ๑,๘๐๐-๒,๑๐๐ ม.ออกดอกและเป็นผลเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์.