ขาวกาหลงเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า เรียว ลำต้นเทียมค่อนข้างสั้น เกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันอย่างหลวม ๆ ชูเหนือดินเล็กน้อย แต่ละต้นมีใบ ๒-๔ ใบ
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กลับหรือรูปใบหอกกลับกว้าง ๖-๑๐ ซม. ยาว ๑๓-๑๖ ซม. ปลายเป็นติ่งหนามโคนค่อนข้างมนหรือกึ่งรูปลิ่ม ขอบเรียบ ด้านบนเกลี้ยงด้านล่างมีขนยาวสีขาว ก้านใบยาว ๒-๔ ซม. เป็นร่องตามยาว ลิ้นใบเป็นเยื่อ กว้าง ปลายตัด
ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอด ก้านช่อยาวประมาณ ๑ ซม. ช่อดอกยาวประมาณ ๖ ซม. ประกอบด้วยใบประดับเรียงซ้อนกันอย่างหลวม ๆ ใบประดับสีชมพูรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาว ๔-๕ ซม. ปลายเรียวแหลม มีขนละเอียด ใบประดับย่อยสีขาวปลายแต้มสีชมพู รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๓.๕ ซม. ปลายมน ขอบพับเข้าด้านในมีขนละเอียด กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๕ ซม. ปลายมน มีแฉกลึกลง ๑ แฉก กลีบดอกส่วนที่เป็นหลอดยาวประมาณ ๕ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก รูปขอบขนาน ขนาดไม่เท่ากัน กลีบบนกว้างประมาณ ๒.๒ ซม. ปลายเรียวแหลม แฉกข้าง ๒ แฉก กว้างประมาณ ๕ มม. ปลายมน เกสรเพศผู้เป็นหมันที่เปลี่ยนเป็นกลีบปากรูปหัวใจกลับ สีขาว มีแต้มสีเหลืองอ่อนตรงกลางแผ่น กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. ปลายหยักลึกเกือบกลางแผ่น แยกเป็น ๒ พู เกสรเพศผู้เป็นหมันที่เหลือ ๒ เกสร ขนาบอยู่ตรงโคนของกลีบปาก รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๐.๕ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. สีขาว ปลายมน เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี ๑ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๒ มม. อับเรณูยาวประมาณ ๕ มม. ปลายมีหงอนเป็นแผ่น ๓ พู กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ สีขาว เกลี้ยงยาวประมาณ ๕ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนน้อย ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียขนาดเล็ก รูปรี สั้นกว่าสันอับเรณู แต่กว้างกว่าก้านยอดเกสรเพศเมีย
ผลแบบผลแห้งแตก รูปค่อนข้างกลม เมล็ด ๑-๓ เมล็ด รูปทรงรี สีดำ มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาว บริเวณโคนแหว่ง
ขาวกาหลงเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบบริเวณชายป่าดิบชื้นที่สูงจากระดับทะเล ๓๐๐-๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนตุลาคมถึงธันวาคม.