กระดอมเป็นไม้เถา ลำต้นเป็นร่องและมีมือพัน
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปร่างต่าง ๆ กัน มีตั้งแต่รูปไตจนถึงรูปสามเหลี่ยม ห้าเหลี่ยม หรือเป็นแฉก กว้าง ๓-๑๐ ซม. ยาว ๔-๑๐ ซม. โคนใบเว้าลึกเป็นรูปหัวใจ สากคายทั้งด้านบนและด้านล่าง
ดอกแยกเพศร่วมต้น ใบประดับยาว ๑.๕-๒ ซม. ขอบจักเป็นแฉกลึกแหลม ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อ ก้านช่อยาว ๗-๑๕ ซม. กลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็นแฉกรูปใบหอก ๕ แฉก มีขนเป็นมันเลื่อม กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาว โคนติดกันเล็กน้อย เกสรเพศผู้ ๓ อัน ดอกเพศเมียออกเดี่ยวกลีบเลี้ยงและกลีบดอกลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว ๔-๕ ซม. ผิวสาก มีสัน ๑๐ สัน เนื้อสีเขียว ผลสุกสีแดง มีเมล็ดจำนวนมาก รูปรี กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๖ มม.
กระดอมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นตามที่รกร้างทั่วไป ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย
ในอินเดียใช้รากแห้งบดผสมกับน้ำร้อนทาถูนวดกล้ามเนื้อบริเวณที่ปวดเมื่อย น้ำต้มจากใบกินเป็นยาถอนพิษของผลสุกที่กินเข้าไป เมล็ดต้มน้ำกินเป็นยาลดไข้ ขับน้ำลาย บำรุงธาตุ และช่วยย่อย.