กูดเกี๊ยะเป็นเฟิร์น มีเหง้าทอดขนานลึกใต้ดิน ใบประกอบแบบขนนกสามชั้น ต่างกับกูดกิน ๒ ที่ใบย่อยชั้นที่ ๒ ไม่มีก้านใบแกนกลางใบประกอบ แกนกลางใบย่อยทุกชั้นมีร่องตามยาวทางด้านบนของแผ่นใบ ภายในร่องมีขน ส่วนลักษณะอื่น ๆ เหมือนกับกูดกิน ๒
กูดเกี๊ยะมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ขึ้นในป่าดิบเขาและป่าสน ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๘๐๐-๒,๒๐๐ ม. ในบางพื้นที่พบในระดับสูงกว่ากูดกิน ๒ แต่ในบางพื้นที่ก็พบขึ้นปนกัน เช่น บนภูกระดึง จ. เลย ในต่างประเทศพบทั้งในเขตอบอุ่นและเขตร้อนของโลก.