กูดกิน ๒

Pteridium aquilinum (L.) Kuhn subsp. caudatum var. yarrabense Domin

เฟิร์นขึ้นบนดิน เหง้าทอดขนานใต้ดิน ใบประกอบแบบขนนกสามชั้น ก้านใบแข็ง แกนกลางใบย่อยทุกชั้นมีร่องตามยาวและมีขน ใบย่อยชั้นที่ ๑ คู่ล่างใหญ่ที่สุด ใบย่อยชั้นสุดท้ายหยักลึกเป็นแฉกลึกแบบขนนก แผ่นใบเหนียว มีขนสีน้ำตาลอ่อน ก้านใบสั้น กลุ่มอับสปอร์อยู่ตามขอบใบย่อย มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์

กูดกินชนิดนี้เป็นเฟิร์น เหง้าทอดขนานใต้ดินลึกประมาณ ๑๐ ซม. แตกสาขามาก เหง้ามีขนสีน้ำตาลอ่อน

 ใบประกอบแบบขนนกสามชั้น ก้านใบแข็ง ยาวประมาณ ๑ ม. ตอนปลายสีน้ำตาลอ่อน โคนสีน้ำตาลเข้มถึงดำ มีขนสีน้ำตาลอ่อนทั่วไป แกนกลางใบย่อย แกนกลางใบย่อยชั้นที่ ๑ แกนกลางใบย่อยชั้นที่ ๒ และแกนกลางใบย่อยชั้นที่ ๓ มีร่องตามยาวทางด้านบน

 ใบย่อยชั้นที่ ๑ คู่ล่างใหญ่ที่สุด กว้างประมาณ ๔๐ ซม. ยาวประมาณ ๗๐ ซม. ใบย่อยชั้นสุดท้ายหยักลึกเป็นแฉกลึกแบบขนนก แผ่นใบค่อนข้างเหนียว มีขนสีน้ำตาลอ่อน เส้นใบแยกสาขาเป็นคู่ เป็นสันทางด้านล่างของแผ่นใบ ก้านใบย่อยสั้นแกนกลางใบย่อยไม่มีขนหรือมีขนประปราย กลุ่มอับสปอร์อยู่ตามขอบใบย่อย เมื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์มี ๒ ส่วน ส่วนบนเกิดจากขอบใบพับมาคลุม ส่วนล่างเป็นเยื่อบาง ๆ

 กูดกินชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นบนภูเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง ๒,๐๐๐ ม. ตามที่โล่งแจ้ง ดินเป็นกรด หรือตามป่าสน ในต่างประเทศพบแถบเทือกเขาหิมาลัย ลงมาถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย

 ใบอ่อนใช้กินเป็นผักสุก

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดกิน ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pteridium aquilinum (L.) Kuhn subsp. caudatum var. yarrabense Domin
ชื่อสกุล
Pteridium
คำระบุชนิด
aquilinum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
- Kuhn, Friedrich Adalbert Maximilian (’Max’)
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
subsp. caudatum
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- -
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von (1707-1778)
- Kuhn, Friedrich Adalbert Maximilian (’Max’) (1842-1894)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด