กูดกินชนิดนี้เป็นเฟิร์น เหง้าตั้งตรง อาจสูงได้มากกว่า ๑ ม. มีเกล็ดสีน้ำตาลเข้มขอบดำ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ขอบเกล็ดหยักซี่ฟัน
ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น แผ่นใบมีขนาดต่าง ๆ กัน มักยาวมากกว่า ๑ ม. ก้านใบยาวประมาณ ๗๐ ซม. กลุ่มใบย่อยคู่ล่าง ๆ มักลดขนาด กว้างประมาณ ๒๕ ซม. ยาวประมาณ ๔๐ ซม. ปลายเรียวแหลม
ใบย่อยรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒.๕ ซม. ยาวประมาณ ๑๓ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปกึ่งหัวใจหรือรูปติ่งหู ขอบหยักเว้าลึกเป็นแฉกเกือบถึงเส้นกลางใบย่อย แฉกปลายมน ขอบหยักซี่ฟัน แผ่นใบบาง เส้นใบแยกสาขาแบบขนนกยื่นเข้าไปในแต่ละแฉก เส้นใบย่อยมีประมาณ ๑๐ คู่ สานกับเส้นใบที่อยู่ในแฉกติดกันเป็นร่างแห ก้านใบย่อยสั้นหรือไม่มีกลุ่มอับสปอร์เรียงตามยาวเส้นใบย่อย มักเชื่อมกับกลุ่มอับสปอร์ที่อยู่ในแฉกติดกันซึ่งมีเส้นใบมาสานกัน
กูดกินชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นอยู่บริเวณดินแฉะ ๆ หรือริมลำธารที่ได้รับแสงเต็มที่บนพื้นที่ระดับต่ำถึงสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๘๐๐ ม.
ใบอ่อนทำให้สุกแล้วกินได้.