กูดก้านแดงเป็นเฟิร์น เหง้าสั้น ตั้ง มีเกล็ดบางสีน้ำตาล กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๔ มม.
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๔๐-๕๐ ซม. ยาวประมาณ ๑ ม. หรือมากกว่าในใบที่เจริญเต็มที่ก้านใบยาวได้มากกว่า ๕๐ ซม. สีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม มีขน ก้านใบตอนโคนมีเกล็ด
ใบย่อยมี ๓๐ คู่ หรือมากกว่า ไม่มีก้านใบย่อย ใบย่อย คู่ล่าง ๆ ลดขนาดลงจนมีรูปคล้ายติ่งหู ใบย่อยตอนกลางใหญ่ที่สุด รูปขอบขนาน กว้าง ๒.๕-๓ ซม. ยาว ๒๐-๒๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบหรือตัด ขอบเว้าเป็นพูลึกประมาณ ๑ ใน ๓ จากเส้นกลางใบย่อย บริเวณตอนกลางของใบย่อยขอบใบหยักเล็กน้อย แผ่นใบสีเขียว บาง เรียบ เส้นใบแบบขนนกเส้นใบใกล้โคนใบลานเป็นร่างแห กลุ่มอับสปอร์กลมหรือค่อนข้างกลมเรียงตัวอยู่บนเส้นใบที่แยกสาขาแบบขนนกในแต่ละหยักเห็นเป็น ๒ แถวขนานกัน เมื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์ไม่มีขน และมีขนาดลดลงเมื่อกลุ่มอับสปอร์เจริญเต็มที่
กูดก้านแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขึ้นในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขาใกล้ลำธารบริเวณกลางแจ้งหรือค่อนข้างร่ม บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๓๐๐-๑,๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ อินเดียตอนใต้ ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.