เงี่ยงดุก

Canthium berberidifolium E. T. Geddes

ไม้พุ่ม ลำต้นมีหนาม กิ่งมีขนสั้น ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่กลับ หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยม ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบดอกสีขาว ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีหรือเกือบกลม เมล็ดรูปทรงรีถึงรูปไต มี ๒-๕ เมล็ด

เงี่ยงดุกเป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ ๓ ม. ลำต้นมีหนาม กิ่งมีขนสั้น

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง รูปไข่กลับ กว้าง ๕-๘ มม. ยาว ๑.๒-๑.๘ ซม. ปลายมนโคนสอบ ขอบม้วนลง มีขนสั้น แผ่นใบด้านบนสีเขียว


แกมเหลือง เกลี้ยงเป็นมัน ด้านล่างมีขนยาวทั่วไป เส้นแขนงใบข้างละ ๒-๓ เส้น เป็นร่องทางด้านบน เป็นสันนูนทางด้านล่างชัดเจน ก้านใบยาวประมาณ ๒ มม. มีขน หูใบระหว่างก้านใบ ๑ คู่ รูปสามเหลี่ยม

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ แต่ละช่อมีดอก ๑-๓ ดอก ก้านดอกสั้น มีใบประดับ ๑ คู่ เชื่อมติดกัน ใบประดับมีขนยาว กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น มีขน ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ๕ แฉก กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปคนโท กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ด้านในตอนบนมีขน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๑ มม. โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดที่ปลายหลอดดอก อับเรณูยาวประมาณ ๒ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มีขน มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๓ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๒ มม. โคนก้านมีขน ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีหรือเกือบกลม กว้างและยาวประมาณ ๑ ซม. เมล็ดรูปทรงรีถึงรูปไต มี ๒-๕ เมล็ด

 เงี่ยงดุกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่กัมพูชา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เงี่ยงดุก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Canthium berberidifolium E. T. Geddes
ชื่อสกุล
Canthium
คำระบุชนิด
berberidifolium
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Elizabeth, T. Geddes
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (fl. 1927)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ราชันย์ ภู่มา