ตะขบป่า

Flacourtia indica (Burm. f.) Merr.

ชื่ออื่น ๆ
ตานเสี้ยน, มะเกว๋นนก, มะเกว๋นป่า (เหนือ); หมากเบน (หนองคาย)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น เปลือกสีน้ำตาลอมเหลืองแกมสีเทา เป็นร่องแตกตามยาวและแตกเป็นแผ่น ลำต้นและกิ่งขนาดใหญ่ มีหนามแหลมยาว ต้นแก่มักไม่มีหนาม กิ่งอ่อนมีขนประปรายถึงหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามซอกใบหรือปลายกิ่งดอกสีเหลืองอมเขียว ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือรูปทรงรี สีเขียว เมื่อแก่สีแดงถึงสีดำค่อนข้างโปร่งแสง เมล็ดมีเกราะแข็งหุ้ม มี ๑๐-๑๔ เมล็ด

 ตะขบป่าเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๕ ม. เปลือกสีน้ำตาลอมเหลืองแกมสีเทา เป็นร่องแตกตามยาวและแตกเป็นแผ่น ลำต้นและกิ่งขนาดใหญ่ มีหนามแหลมยาว ต้นแก่มักไม่มีหนาม กิ่งอ่อนมีขนประปรายถึงหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปไข่ หรือรูปไข่กลับกว้าง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๒.๕-๔.๕ ซม. ปลายมนกลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่มถึงมนกลม ขอบหยักซี่ฟัน ปลายหยักมีต่อม แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนสั้นหนานุ่มประปรายถึงหนาแน่น ขนปลายโค้งเป็นตะขอหรือขนตรงหรือมีทั้ง ๒ แบบบนแผ่นใบทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๗ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๐.๓-๑ ซม. หูใบร่วงง่าย

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ช่อยาวได้ถึง ๒ ซม. มีขนสั้นประปรายถึงหนาแน่น บางครั้งก้านช่อดอกลดขนาดลงมาคล้ายกิ่งเล็ก ๆ ที่ไม่มีใบ ใบประดับคล้ายใบรูปไข่กลับ ดอกสีเหลืองอมเขียว ก้านดอกยาว ๓-๗ มม.



มีขนประปราย กลีบเลี้ยง ๓-๗ กลีบ รูปไข่ ยาวได้ถึง ๒ มม. ด้านนอกเกลี้ยงถึงมีขนประปราย ด้านในมีขนประปรายถึงหนาแน่น ขอบมีขนครุย ไม่มีกลีบดอกเกสรเพศผู้ ๗๐-๑๐๐ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวได้ถึง ๓ มม. เกลี้ยงหรือมีขนเฉพาะที่โคนก้านชูอับเรณู จานฐานดอกรูปวงแหวน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลม มี ๕-๗ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียแยกกันเป็นอิสระหรือเชื่อมติดกันถึงครึ่งหนึ่งของความยาว ยาวได้ถึง ๒.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก ๕-๗ ตุ่ม

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมถึงรูปทรงรี เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๘-๑.๔ ซม. สีเขียวเมื่อแก่สีแดงถึงสีดำ ค่อนข้างโปร่งแสง ผลแก่มีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดมีเกราะแข็งหุ้ม มี ๑๐-๑๔ เมล็ด

 ตะขบป่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค พบมากตามป่าผลัดใบ บางครั้งพบตามชายฝั่งทะเล ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๖๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคมถึงมิถุนายน ในต่างประเทศพบที่เขตร้อนของแอฟริกาและเขตร้อนของเอเชียถึงหมู่เกาะแปซิฟิก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะขบป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Flacourtia indica (Burm. f.) Merr.
ชื่อสกุล
Flacourtia
คำระบุชนิด
indica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Burman, Nicolaas Laurens (Nicolaus Laurent)
- Merrill, Elmer Drew
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Burman, Nicolaas Laurens (Nicolaus Laurent) (1734-1793)
- Merrill, Elmer Drew (1876-1956)
ชื่ออื่น ๆ
ตานเสี้ยน, มะเกว๋นนก, มะเกว๋นป่า (เหนือ); หมากเบน (หนองคาย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายทวีโชค จำรัสฉาย