ขาเปี๋ยนุ่มเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีตอหนาและแข็งส่วนที่เป็นลำต้นสั้นมาก ยาวเพียง ๕-๑๒ ซม. กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยมมน มีขนประปราย กิ่งแก่กลม เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกกลับหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๘ ซม. ยาว ๓-๒๗ ซม. ปลายมนกลมหรือแหลม โคนสอบเรียว ขอบหยักมนหรือจักฟันเลื่อยห่างทางครึ่งบน ครึ่งล่างเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษใบอ่อนมักมีสีม่วงแดงทางด้านล่าง มีขนประปรายทั้ง ๒ ด้าน ใบแก่เกลี้ยง เส้นกลางใบเป็นร่องตื้นทางด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๑๐ เส้น ด้านบนเป็นร่องตื้นเส้นใบย่อยเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาวได้ถึง ๑ ซม. หรือไม่มี ด้านบนเป็นร่อง มีขนประปรายช่อดอกแบบช่อแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่น ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ออกที่ปลายยอด ยาว ๑-๓ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๐.๓-๑.๕ ซม. ก้านและแกนช่อมีขนประปรายถึงหนาแน่น แต่ละช่อมีดอกมาก ดอกเล็ก สีขาวแกมเขียวก้านดอกยาวไม่เกิน ๑ มม. หรือไม่มี ใบประดับเล็กมากกลีบเลี้ยงรูปปากเปิด โคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาว ๑-๑.๕ มม. ปลายแยกเป็นแฉกเล็ก ๕ แฉก ปลายแหลมหรือมน แฉกบน ๓ แฉก มีขนาดเล็กกว่า ๒ แฉกล่าง ด้านนอกมีขนประปราย ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกยาว ๒-๓ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปทรงกระบอก ปลายแยกเป็น ๔ แฉก ปลายมนหรือกลม แฉกบน ๑ แฉก มีขนาดใหญ่กว่า ๓ แฉกล่าง ด้านนอกมีขนสั้นประปราย บริเวณคอหลอดกลีบดอกด้านในมีขนหนาแน่น เกสรเพศผู้มี ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน อับเรณูรูปรี โผล่ไม่พ้นหลอดกลีบดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกลี้ยง มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวเท่ากับเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉกสั้น ๒ แฉก
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓-๔ มม. ผิวมีตุ่ม สุกสีม่วงดำ เมล็ดเล็กมาก มี ๔ เมล็ด
ขาเปี๋ยนุ่มมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าสนหรือป่าเต็งรัง ที่สูงจากระดับทะเล ๑๕๐-๑,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน เมียนมา จีนตอนใต้ภูมิภาคอินโดจีน ฟิลิปปินส์ นิวกินี และออสเตรเลีย.
ประโยชน์ ผลสุกกินได้ มีรสหวาน.