กระซิก

Dalbergia parviflora Roxb.

ชื่ออื่น ๆ
ซิก, ครี้, สรี้, สักขี (ใต้)
ไม้พุ่มรอเลื้อย ต้นมักมีหนาม ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ใบย่อยรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ดอกสีขาว รูปดอกถั่วฝักรูปโค้ง เมื่อแก่แตกเป็น ๒ ซีก

กระซิกเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย ยาว ๕-๒๐ ม. ลำต้นมักมีหนามซึ่งเกิดจากการชะงักงันของกิ่ง

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ก้านใบประกอบยาว ๕-๗.๕ ซม. ใบย่อย ๕-๙ ใบ เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ ถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๒.๕-๕ ซม. ยาว ๕-๑๐ ซม. ปลายมน โคนมนถึงสอบกว้าง เส้นแขนงใบบาง เส้นใบย่อยเห็นเด่นชัดทั้ง ๒ ด้านของแผ่นใบ

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ยาว ๘-๑๕ ซม. ดอกรูปดอกถั่ว สีขาว เล็กมาก เรียงเป็นแถวทางด้านบนของแขนงช่อดอก กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ติดกันเป็นรูปถ้วย กลีบดอก ๕ กลีบ เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นแผ่นรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนประปราย มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก

 ฝักค่อนข้างหนา กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาว ๒-๖ ซม. มี ๑-๔ เมล็ด ฝักที่มีเพียงเมล็ดเดียวรูปรีโค้ง ฝักที่มีมากกว่า ๑ เมล็ดรูปขอบขนานโค้ง เมล็ดรูปไต กว้าง ๕-๘ มม. ยาว ๑-๑.๒ ซม.

 กระซิกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ขึ้นตามริมน้ำในป่าบริเวณน้ำกร่อยและป่าพรุ ออกดอกระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

 แก่นไม้สีน้ำตาลเข้ม แข็งกรอบ มีกลิ่นหอมอ่อน ใช้เป็น สมุนไพรบำรุงโลหิต ขับเสมหะ บำรุงธาตุ และแก้ไข้พิษ เป็นต้น

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระซิก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dalbergia parviflora Roxb.
ชื่อสกุล
Dalbergia
คำระบุชนิด
parviflora
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1751-1815)
ชื่ออื่น ๆ
ซิก, ครี้, สรี้, สักขี (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม