กุหลาบเมาะลำเลิง

Pereskia grandifolia Haw.

ชื่ออื่น ๆ
กุหลาบเทียม
ไม้พุ่ม ใบเรียงสลับ รูปรี รูปไข่ หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน มีหนามแข็งปลายแหลมสีน้ำตาลดำอยู่ตามง่ามใบหรือ อยู่ที่โคนกลุ่มใบ ช่อดอกแบบกระจุกสั้น ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีชมพูอมม่วง ทยอยบานจากดอกกลาง ใบประดับรูปไข่ หรือรูปไข่กลับ ๑ ใบ และมีใบประดับเล็ก ๆ อีกหลายใบอยู่ ที่ฐาน ผลคล้ายผลชมพู่เบี้ยว

กุหลาบเมาะลำเลิงเป็นไม้พุ่ม สูง ๒-๕ ม. กิ่งสีเขียวแกมม่วง

 ใบเดี่ยว หรือเป็นกลุ่ม ๒-๓ ใบ เรียงสลับ รูปรี รูปไข่ หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๖-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบหนา เส้นใบเห็น ไม่ชัดเจน เส้นกลางใบนูนเด่นทางด้านล่าง ก้านใบยาวไม่เกิน ๑ ซม. มีหนามแข็งปลายแหลมสีน้ำตาลดำ ๑-๘ อัน อยู่ตามง่ามใบหรืออยู่ที่โคนกลุ่มใบ

 ช่อดอกแบบกระจุกสั้น ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีชมพูอมม่วง ทยอยบานจากดอกกลาง ส่วนดอกข้างในลำดับ ต่อ ๆ ไปจะออกที่ฐานของดอกแรกหรือดอกข้างในลำดับก่อน ดอกกลางไม่มีก้านดอก ดอกข้างมีก้านดอกยาวไม่เกิน ๑ ซม. ฐานดอกคล้ายถ้วย ใบประดับรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ๑ ใบ กว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. ออกที่โคนก้านดอก และมีใบประดับเล็ก ๆ อีกหลายใบอยู่ที่ฐานดอกทั้งส่วนโคน ด้านข้างและขอบ ง่ามใบประดับและรอบโคนก้านดอกมีขนสั้น ๆ สีน้ำตาลกลีบเลี้ยงคล้ายกลีบดอก มีประมาณ ๓ กลีบ รูปไข่ กว้างประมาณ ๑ ชม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. กลางกลีบด้านนอกสีเขียว ขอบกลีบและด้านในสีเหมือนกลีบดอก กลีบดอก ๖-๘ กลีบ เรียงซ้อนสลับ รูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๒-๒.๕ ซม. มีเกสรเพศผู้มาก ก้านชูอับเรณูสีนวล ยาวประมาณ ๑ ซม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑ ซม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๕ แฉก

 ผลคล้ายผลชมพู่เบี้ยว กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๕-๑๐ ซม. ผลแก่สีเหลือง เมล็ดรูปไข่กลับหรือรูปรี กว้าง ๔-๕ มม. ยาวประมาณ ๖ มม.

 กุหลาบเมาะลำเลิงมีถิ่นกำเนิดในแถบบราซิล ชอบดินทราย ขยายพันธุ์โดยการปักชำ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กุหลาบเมาะลำเลิง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pereskia grandifolia Haw.
ชื่อสกุล
Pereskia
คำระบุชนิด
grandifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Haworth, Adrian Hardy
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1768-1833)
ชื่ออื่น ๆ
กุหลาบเทียม
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์