กุหลาบมลายู

Rhododendron malayanum Jack

ชื่ออื่น ๆ
กุหลาบแดงทักษิณ
ไม้พุ่มอิงอาศัย ลำต้น กิ่ง ใบ มีเกล็ดสีน้ำตาล ใบเรียงเวียน รูปรี ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง ดอกห้อยลงและแกว่งได้ สีแดงหรือแดงอมส้ม ผลแบบผลแห้งแตกรูปทรงกระบอก

กุหลาบมลายูเป็นไม้พุ่มอิงอาศัย สูง ๒-๔ ม. ลำต้นและกิ่งมีเกล็ดสีน้ำตาล

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเยื้องกันเล็กน้อยเกือบตรงกันข้ามหรือเรียงเวียนเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง ๓-๖ ใบ ใบรูปขอบขนานหรือรูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๕-๑๐ ซม. ปลายแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม มีเกล็ดประปรายแต่จะร่วงไปทำให้ใบเป็นจุดเล็ก ๆ สีดำ ด้านล่างสีน้ำตาลอมแดง มีเกล็ดหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่งช่อละ ๔-๘ ดอก ดอกมักห้อยคว่ำหน้า แกว่งได้ ดอกบานเต็มที่กว้าง ๑-๑.๓ ซม. กลีบดอกสีแดงหรือแดงอมส้ม เป็นมัน ติดกันเป็นหลอด ตอนบนโค้งเล็กน้อย ยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ กลีบ กลีบเล็ก กลม กว้างและยาว ๔-๕ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ยาวไม่เท่ากัน ตั้งแต่ ๑.๒-๑.๕ ซม. ก้านชูอับเรณูสีแดง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีเกล็ดหนาแน่น มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก ขนาดเล็ก มีเกล็ดผลแก่แตกเป็น ๕ เสี่ยง แต่ละเสี่ยงจะบิด มีเมล็ดเล็กแบน จำนวนมาก มีปีกบางใสล้อมรอบ

 กุหลาบมลายูมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบที่จังหวัดยะลา บนภูเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ขึ้นไป ขึ้นตามคบไม้ในป่าดิบเขาที่ชุ่มชื้นในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย เกาะสุมาตรา เกาะชวา เกาะบอร์เนียว และเกาะเซลีเบส ออกดอกระหว่างเดือนธันวาคมถึงมกราคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กุหลาบมลายู
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rhododendron malayanum Jack
ชื่อสกุล
Rhododendron
คำระบุชนิด
malayanum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Jack, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1795-1822)
ชื่ออื่น ๆ
กุหลาบแดงทักษิณ
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข