ตะคร้ำหินเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๕-๑๐ ม. เปลือกแตกเป็นสะเก็ด มีน้ำยางสีขาว
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน รวมก้านใบยาว ๑๗-๒๐ ซม. มีใบย่อย ๑๑-๑๗ ใบ เรียงตรงข้าม ด้านล่างเรียงเกือบตรงข้าม ใบย่อยรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๔-๙ ซม. ปลายแหลมยาว โคนรูปลิ่มกว้างหรือมนกลม เบี้ยว ขอบหยักซี่ฟัน เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบนูนเล็กน้อยทางด้านบน นูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๘ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบย่อยยาว ๒-๓ ซม. หูใบขนาดเล็ก รูปลิ่มแคบ ยาว ๒-๓ มม.
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกเรียงเวียนที่
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๘ มม. มีขนเล็กน้อย มีเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล ติดเบี้ยว ก้านผลยาว ๑-๓ มม. ฐานดอกแห้งติดทน เมล็ดมีเกราะแข็งหุ้ม มี ๑-๒ เมล็ด
ตะคร้ำหินมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคใต้ พบตามเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๐๐-๓๕๐ ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ เป็นผลเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่ชวา บอร์เนียว ติมอร์ หมู่เกาะเซลีบีส หมู่เกาะซุนดา หมู่เกาะโมลุกกะ นิวกินี ทางตอนเหนือออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก
ประโยชน์ ในหมู่เกาะโมลุกกะใช้ใบเลี้ยงแพะ.