ตะขบนกเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. กิ่งอ่อนมีขนหยาบแข็งประปราย
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปรี กว้าง ๒-๗ ซม. ยาว ๗-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงเป็นติ่งแหลมโคนมนถึงค่อนข้างสอบเรียว ขอบมักเป็นคลื่นหรือหยักมนถี่ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เมื่อแห้งด้านบนสีเขียวอมเทาอ่อน ด้านล่างสีน้ำตาลอ่อน เส้นกลางใบมีขนหยาบแข็งประปรายทางด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๙ เส้น เส้นใบย่อยนูนชัดและมีขนหยาบแข็งประปรายด้านล่างก้านใบยาว ๐.๖-๑.๓ ซม. มีขนหยาบแข็ง โคนก้านป่องชัด หูใบรูปไข่แคบ กว้าง ๑.๕-๔ มม. ยาว ๐.๕-๑ ซม.ร่วงง่าย
ดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อเชิงลด มี ๑-๔ ช่อ ออกตามซอกใบ มีขนสั้นหนานุ่มใบประดับรูปสามเหลี่ยม ยาว ๐.๘-๑.๒ มม. ดอกสีขาวอมเขียวอ่อน กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ เรียงซ้อนกัน ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ช่อดอกเพศผู้กว้างได้ถึง ๑ ซม. ยาว ๑-๒ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ใบประดับรูปสามเหลี่ยม ยาว ๐.๘-๑ มม. แต่ละช่อมีดอกไม่ถึง ๑๐ ดอก ติดห่างกันบนแกนกลาง ๑-๒ มม. ดอกเพศผู้ยาว ๐.๕-๑ มม. ก้านดอกเล็กมาก กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยมยาว ๑-๑.๕ มม. เป็นสัน เกสรเพศผู้ ๓ เกสร ยาว ๐.๖-๐.๘ มม. อับเรณูยาว ๐.๒-๐.๓ มม. ไม่มีเกสรเพศเมียเป็นหมัน ช่อดอกเพศเมียยาว ๐.๕-๑ ซม. ดอกเพศเมียยาว ๒.๕-๓ มม. ก้านดอกสั้นมาก มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นกลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาว ๑-๑.๕ มม. ขนาดไม่เท่ากัน กางออก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ไม่มีก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียยาว ๑-๑.๒ มม. แยกถึงโคนเป็น ๒ แฉก
ผลแบบผลแห้งแยก สีเหลืองอ่อนถึงสีน้ำตาลอ่อน รูปทรงรี กว้าง ๐.๖-๑ ซม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. มีขนสั้นนุ่มประปราย แกนกลางเกลี้ยง เมล็ดรูปทรงค่อนข้างรี กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๐.๗-๑ ซม. หนา ๓-๔ มม. มี ๒-๔ เมล็ด มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีส้ม
ตะขบนกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบที่ต่ำ ตามเชิงเขา ที่ราบใกล้แม่น้ำ และริมทาง ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางได้ถึง ๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนเมษายนถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมาเลเซีย.