ชมพู่แก้มแหม่ม

Syzygium samarangense (Blume) Merr. et L. M. Perry var. samarangense

ชื่ออื่น ๆ
ชมพู่กะหลาป๋า, ชมพู่ขาว, ชมพู่เขียว, ชมพู่นาก (กรุงเทพฯ); ยามูปะนาวา (มลายู-นราธิวาส)
ไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปขอบขนาน เส้นขอบในข้างละ ๒ เส้น ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบ ดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ฐานดอกรูปถ้วย ปลายผายคล้ายปากแตร มีต่อมจำนวนมาก เกสรเพศผู้จำนวนมาก ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สีเขียวอ่อนรูปลูกข่าง ปลายผลมีกลีบเลี้ยงและก้านยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดรูปค่อนข้างกลม มี ๑-๒ เมล็ด หรือไม่มีเมล็ด

 ชมพู่แก้มแหม่มเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๐ ม. กิ่งรูปทรงกระบอก เปลือกเรียบหรือเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ สีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมเขียว

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๔.๕-๘.๕ ซม. ยาว ๑๒-๒๐ ซม. ปลายแหลมหรือบางครั้งมน โคนเว้ารูปหัวใจเล็กน้อยมนกลม หรือรูปลิ่ม ขอบเรียบ เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบเป็นร่องตื้นทางด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๕ เส้น เส้นขอบในข้างละ ๒ เส้น ก้านใบยาว ๒-๘ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบ ยาวได้ถึง ๘ ซม. แต่ละช่อมีดอกเรียงหลวม ๆ ก้านช่อยาว ๑-๑.๕ ซม. ก้านดอกสั้นมากหรือยาวได้ถึง ๑.๘ ซม. ดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ฐานดอกรูปถ้วย ปลายผายคล้ายปากแตร ยาว ๑.๕-๑.๘ ซม. มีต่อมจำนวนมาก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกับฐานดอกปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปครึ่งวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓.๕-๗ มม. ขอบบางคล้ายเยื่อ กลีบดอก ๔ กลีบ สีขาว แยกกันเป็นอิสระ รูปไข่หรือรูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๓ ซม. โคนหนาแผ่นกลีบมีต่อมจำนวนมาก เกสรเพศผู้จำนวนมากแยกกันเป็นอิสระ เกสรรอบนอกยาวกว่ารอบในอับเรณูรูปขอบขนานแกมรูปแถบ ยาว ๑.๕-๒ มม. ด้านหลังมีต่อม ๒-๘ ต่อม ก้านชูอับเรณูเรียว สีขาวหรือสีเหลืองอ่อน รอบนอกยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมากก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาว ๒.๕-๓.๕ ซม. ยื่นเหนือกลุ่มเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สีเขียวอ่อนรูปลูกข่าง กว้าง ๓.๕-๕ ซม. ยาว ๔-๖ ซม. ปลายผลมีกลีบเลี้ยงและก้านยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดรูปค่อนข้างกลม มี ๑-๒ เมล็ด หรือไม่มีเมล็ด

 ชมพู่แก้มแหม่มมีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตร้อน โดยทั่วไปปลูกเป็นไม้ผล มีการปลูกตามบ้านหรือในสวนทั่วทุกภาคของประเทศไทย ผลสุกมีรสหวาน รับประทานได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชมพู่แก้มแหม่ม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Syzygium samarangense (Blume) Merr. et L. M. Perry var. samarangense
ชื่อสกุล
Syzygium
คำระบุชนิด
samarangense
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl(Karl) Ludwig von
- Merrill, Elmer Drew
- Perry, Lily May
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. samarangense
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- -
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl(Karl) Ludwig von (1796-1862)
- Merrill, Elmer Drew (1876-1956)
- Perry, Lily May (1895-1992)
ชื่ออื่น ๆ
ชมพู่กะหลาป๋า, ชมพู่ขาว, ชมพู่เขียว, ชมพู่นาก (กรุงเทพฯ); ยามูปะนาวา (มลายู-นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย