ขาเปี๋ยเป็นไม้เลื้อยหรือไม้พุ่มรอเลื้อย กิ่งอ่อนกลมมีขนสั้นประปราย และมีช่องอากาศกระจายทั่วไป
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๔.๕-๘ ซม. ยาว ๘-๑๘ ซม. ปลายแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนกลม มน หรือรูปลิ่มขอบเรียบ อาจจักฟันเลื่อยห่าง ๆ บริเวณใกล้ปลายใบ ใบอ่อนบางคล้ายกระดาษ ใบแก่หนาคล้ายแผ่นหนังมีขนสั้นตามเส้นใบทั้ง ๒ ด้าน ส่วนอื่นเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น ปลายโค้งขึ้นจดกันก่อนถึงขอบใบ ด้านบนเป็นร่องตื้น เส้นใบย่อยเห็นชัดเจนทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑.๕-๕ ซม. บางครั้งก้านใบคู่ตรงข้ามยาวไม่เท่ากันด้านบนเป็นร่อง มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่น ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ออกที่ปลายกิ่ง ยาว ๔-๖ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๑-๒ ซม. ก้านและแกนช่อมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น แต่ละช่อมีดอกมาก ดอกเล็ก สีขาว กลิ่นหอม ก้านดอกยาวไม่เกิน ๑ มม. หรือไม่มี ใบประดับรูปใบหอก ยาวได้ถึง ๘ มม. กลีบเลี้ยงรูปปากเปิด โคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังแคบยาว ๑.๕-๒ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกเล็ก ๕ แฉก ปลายแฉกมนหรือกลม แฉกบน ๓ แฉก มีขนาดเล็กกว่า ๒ แฉกล่างมีขนสั้นนุ่มทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอกรูปปากเปิด ยาว ๒.๕-๓ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆังแคบ ปลายแยกเป็น ๔ แฉก ปลายมนหรือกลม แฉกบน ๑ แฉก มีขนาดใหญ่กว่า ๓ แฉกล่าง ด้านนอกมีขนสั้นประปราย บริเวณคอหลอดกลีบดอกด้านในมีขนอุยสีขาวหนาแน่น เกสรเพศผู้มี ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน อับเรณูรูปรี โผล่พ้นหลอดกลีบดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกลี้ยง มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวเท่ากับเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉกสั้น ๒ แฉก
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. สุกสีม่วงดำ เมล็ดเล็กมากมี ๔ เมล็ด
ขาเปี๋ยเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามริมลำธารในป่าเบญจพรรณที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๔๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงเมษายน เป็นผลเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม.