ตะคร้าหนาม

Paranephelium spirei Lecomte

ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เปลือกเรียบ สีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลแก่ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่เรียงเวียน มีใบย่อย ๕-๙ ใบ รูปรี ไม่มีตุ่มใบ ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะ ออกตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาวถึงสีเหลือง มีกลิ่นหอม กลีบดอกด้านในมีเกล็ด ๑ เกล็ด ผลคล้ายผลแห้งแตก อาจแตกกลางพูหรือแตกไม่เป็นระเบียบ รูปทรงรี สีน้ำตาลเข้มถึงสีดำอมน้ำตาล ผิวเป็นหนามแหลมหนาแน่นถึงประปราย เมล็ดรูปค่อนข้างกลมแป้น มักมี ๑ เมล็ด ไม่มีเยื่อหุ้ม

ตะคร้าหนามเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๕ ม. พบบ้างที่เป็นไม้พุ่ม เปลือกเรียบ สีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลแก่ กิ่งมีขนสั้นสีเหลืองเข้มประปราย

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน มีใบย่อย ๕-๙ ใบ แกนกลางมีขนสั้น ก้านใบยาว ๑.๖-๑๑ ซม. ก้านใบย่อยยาว ๑.๑-๑.๘ ซม. หรืออาจยาวได้ถึง ๒.๕ ซม. ใบย่อยรูปรี กว้าง ๒-๑๔.๕ ซม. ยาว ๕-๓๔ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่มถึงมนกลมและสอบเรียว ขอบหยักซี่ฟัน ใบที่ยอดส่วนมากปลายมนกลม แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ไม่มีตุ่มใบ เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบเห็นชัดทางด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๑๐ เส้น ปลายเส้นถึงขอบหยักซี่ฟัน เส้นใบย่อยแบบร่างแหถึงแบบขั้นบันได

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะ ออกตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาวได้ถึง ๒๘ ซม. แกนช่อดอกอวบหนา แยกแขนง มีขนหนาแน่น ดอกสีขาวถึงสีเหลือง มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก พบน้อยที่มี ๗ แฉก แต่ละแฉกรูปคล้ายสามเหลี่ยมแคบ รูปแถบ หรือรูปไข่กว้างถึงรูปรี กว้าง ๐.๕-๑.๘ มม. ยาว ๑.๒-๒ มม. ปลายแหลมถึงมนกลม กลีบดอก ๕ กลีบ พบบ้างที่มี ๔ หรือ ๗ กลีบ กว้าง ๐.๘-๑.๗ มม. ยาว ๑.๒-๒ มม. ไร้ก้าน กลีบด้านนอกมีขนแบบขนแกะประปรายถึงเกลี้ยง ด้านในมีเกล็ด ๑ เกล็ด กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๑.๕-๒.๕ มม. ปลายเว้าตื้นหรือเว้าลึกเป็น ๒ พู จานฐานดอกรูปวงแหวน สูงประมาณ ๐.๗ มม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ มม. ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๗-๘ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๔.๒ มม. อับเรณูยาวประมาณ ๐.๕ มม. ดอกเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ไร้ก้านรังไข่ ผิวมีปุ่ม มี ๓ ช่อง พบน้อยที่มี ๑-๒ หรือ ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเล็ก

 ผลคล้ายผลแห้งแตก อาจแตกกลางพูหรือแตกไม่เป็นระเบียบ รูปทรงรี กว้าง ๒.๕-๔ ซม. ยาว ๓-๔.๓ ซม. สีน้ำตาลเข้มถึงสีดำอมน้ำตาล ผิวเป็นหนามแหลมหนาแน่นถึงประปราย เกลี้ยงถึงมีขนเล็กน้อย เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลมแป้น มักมี ๑ เมล็ด ไม่มีเยื่อหุ้ม

 ประโยชน์ เมล็ดกินได้

 ตะคร้าหนามมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้นหรือหย่อมป่า มักพบใกล้แหล่งน้ำ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐-๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะคร้าหนาม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Paranephelium spirei Lecomte
ชื่อสกุล
Paranephelium
คำระบุชนิด
spirei
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Lecomte, Paul Henri
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1856-1934)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา