ตะขบไทยเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. เปลือกสีน้ำตาลถึงสีเทา เรียบหรือเป็นร่องตื้น ๆ ลำต้นและกิ่งอ่อนมีหนาม กิ่งอ่อนมีขนประปรายถึงหนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ถึงรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานถึงรูปใบหอก กว้าง ๒.๕-๖.๕ ซม. ยาว ๗.๕-๑๔.๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนกลมหรือรูปลิ่ม ขอบจักฟันเลื่อยถึงหยักมน ปลายหยักมีต่อม แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง สีเขียวซีดมักเกลี้ยงทางด้านบน ด้านล่างมีขนปลายเป็นตะขอและขนตรงอยู่รวมกันประปรายโดยเฉพาะตามบริเวณเส้นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๐ เส้น ปลายโค้งขึ้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๕-๘ มม. หูใบร่วงง่าย
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะออกตามซอกใบหรือตามกิ่งแก่ที่ไม่มีใบ ยาวได้ถึง ๑ ซม. มีขนประปราย ก้านช่อดอกยาว ๕-๘ มม. ใบประดับคล้ายใบ รูปไข่กลับ ดอกสีเหลืองแกมสีเขียว ก้านดอกยาว ๓-๔ มม. มีขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยง ๓-๖ กลีบ รูปไข่แคบถึงรูปไข่กว้าง ยาวได้ถึง ๒ มม. ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนประปราย ด้านในมีขนหนาแน่น ขอบมีขนครุย ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ ๒๕-๔๕ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวได้ถึง ๓ มม. เกลี้ยง จานฐานดอกรูปวงแหวน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลม มี ๔-๘ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียแยกกันเป็นอิสระยาวประมาณ ๑ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๒.๕ ซม. สีเขียวอ่อนถึงสีม่วงเขียวสุกสีแดงเข้ม เนื้อสีขาวซีด ผลแห้งสีดำ มีร่องตามยาว ๔-๗ ร่อง ผลแก่มีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดมีเกราะแข็งหุ้ม มี ๘-๑๖ เมล็ด
ตะขบไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบและป่าดิบชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย จีน เวียดนาม ลาว และภูมิภาคมาเลเซีย.