ขานางจันเป็นไม้ต้น สูง ๑๕-๓๖ ม. ลำต้นมีพูพอนเปลือกสีน้ำตาลอมเหลืองหรืออมเทา ผิวเรียบ หรืออาจมีช่องอากาศ
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๔-๙ ซม. ยาว ๑๐-๑๘ ซม. ปลายเรียวแหลม ปลายสุดมนโคนรูปลิ่มเป็นมุมกว้างถึงกลมมน ขอบเรียบ เป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนา เกลี้ยง ใบแห้งสีเขียวมะกอกเป็นมันเส้นแขนงใบโค้ง มีข้างละ ๘-๑๐ เส้น เส้นกลางใบ เส้นแขนงใบ และเส้นใบย่อย นูนเห็นชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๑-๑.๕ ซม. ค่อนข้างอวบ
ช่อดอกแบบช่อกระจะคล้ายช่อเชิงลดหรืออาจเป็นช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ยาว ๑๕-๒๐ ซม. มีขนสีเหลืองอมน้ำตาล ดอกสีขาวอมเขียว ติดเป็นกลุ่มตามแกนช่อดอก ใบประดับรูปพัดแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๕-๖ มม. มีหลายใบอยู่ที่โคนช่อ ติดทน ก้านดอกยาว ๒-๓ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายแยกเป็น ๙-๑๐ แฉก รูปแถบ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๘ มม. ขยายใหญ่ขึ้นเมื่อเป็นผล และเปลี่ยนรูปเป็นรูปขอบขนานแกมรูปช้อน กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๑.๕-๑.๘ ซม. โคนกลีบเลี้ยงมีต่อมจำนวนเท่ากับกลีบเลี้ยงและเรียงตรงกับกลีบเลี้ยง กลีบดอกมี ๙-๑๐ กลีบ รูปขอบขนาน กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๐.๕-๑ ซม. เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ติดกลางโคนกลีบดอก อาจติดเดี่ยวหรือเป็นคู่ และยังมีอีก ๒ หรือ ๓ เกสร อยู่ระหว่างต่อม ก้านชูอับเรณูมีขนกางออก อับเรณูเล็ก มี ๒ ช่อง รังไข่อยู่กึ่งใต้วงกลีบหรือเกือบใต้วงกลีบ โคนมีขนสีขาว มี ๑ ช่อง ออวุลหลายเม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๕-๗ ก้าน ยอดเกสรเพศเมียขนาดเล็ก
ผลแบบผลแห้งแตก อาจแตกจากปลายผลสู่โคนผล ๒-๘ เสี่ยง หรือไม่แตก เมล็ดเล็ก มี ๑ เมล็ด ถึงหลายเมล็ด
ขานางจันมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบขึ้นตามป่าดิบหรืออาจพบตามหินปูน ที่สูงใกล้ระดับทะเล ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและภูมิภาคอินโดจีน.