กระเช้าสีดาเป็นไม้เถา รากมีเนื้อแข็ง กิ่งยาวเรียวเป็นร่อง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปใบหอกกลับ กว้าง ๒.๕-๕ ซม. ยาว ๕-๑๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนตัดตรง ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เส้นโคนใบ ๓-๕ เส้น ใบมีกลิ่น
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบ กลิ่นเหม็น ช่อหนึ่งมีเพียง ๒-๓ ดอก ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. วงกลีบรวมติดกัน ยาว ๒-๓.๕ ซม. โคนพองออกเป็นกระเปาะกลมด้านนอกสีเขียวอ่อน ภายในกระเปาะเป็นที่ดักย่อยแมลง เหนือขึ้นไปคอดเป็นหลอดเล็ก ๆ ยาวประมาณ ๑.๒ ซม. ปลายกลีบผายออกเป็นรูปปากแตรเบี้ยว ปลายข้างหนึ่งยื่นยาวออก ไปเป็นรูปยาวแคบแกมรูปขอบขนาน ปลายมน ขอบม้วนออก ขอบกลีบสีม่วงดำ ปลายกลีบที่ยื่นยาวออกไปนั้นด้านบนสีน้ำตาลอมเขียวช้ำ ๆ ด้านล่างสีม่วงดำ บริเวณที่มีสีม่วงมีขนใบประดับรูปไข่ ปลายแหลม เกสรเพศผู้ ๖ อัน ยอดเกสรเพศเมียมี ๖ แฉก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ
ผลแบบผลแห้งแตก ค่อนข้างกลมหรือรูปขอบขนานกว้างและยาว ๔-๕ ซม. ภายในมี ๖ ช่อง ผลแก่แตกออกเป็น ๖ เสี่ยง ซึ่งแตกเลยไปถึงก้านผลและแยกออกเป็น ๖ ก้าน คล้ายรูปกระเช้า เมล็ดแบน รูปไข่ มีปีก
สารสําคัญที่มีอยู่ในกระเช้าสีดาคือ รากมี phytosterol glucoside, แอลคาลอยด์ aristolochine, สารที่มีรสขม isoaristolochic acid, มีน้ำมันระเหยง่ายซึ่งประกอบด้วย sesquiterpene ชื่อ ishwarene, sesquiterpene lactone ชื่อ ishwarone, sesquiterpene alcohol ชื่อ ishwarol ฯลฯ (Chopra, Badhwar and Ghosh; 1965)
กระเช้าสีดามีถิ่นเดิมอยู่ในประเทศอินเดียและศรีลังกาในประเทศไทยไม่พบขึ้นตามธรรมชาติ แต่มีปลูกบ้างเพื่อเป็นไม้ประดับและใช้ทำยา รากมีรสขมมาก มีฤทธิ์ทำให้อาเจียนเป็นยาแก้พิษงู ยากระตุ้น และยาบำรุง (Chopra and Chopra, 1955).