เข็มเขียวเป็นไม้พุ่ม สูง ๒-๓ ม. ลำต้นและใบเรียบเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่แกมรูปขอบขนาน รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๓.๕-๖.๕ ซม. ยาว ๒๐-๔๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบบาง เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๐ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ปลายเส้นโค้งเกือบจรดกัน เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. หูใบระหว่างก้านใบ ๑ คู่ รูปไข่ ปลายเรียวแหลม
ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน มีดอกน้อย ออกตามปลายกิ่ง กว้างและยาวประมาณ ๔ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๑-๑.๕ ซม. ดอกกลิ่นหอมแรง ดอกตูมรูปกระสวย ปลายมีขน ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๕ แฉก แต่ละแฉกปลายแหลมรูปลิ่มแคบ กลีบดอกสีเขียวอ่อน โคนติดกันเป็นหลอด ยาว ๑.๕-๒ ซม. ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกปลายเรียวแหลม ขอบแฉกมีขนครุย เกสรเพศผู้ ๕ อัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเป็นเส้น ยอดเกสรเพศเมียเป็นแท่งยาวพ้นหลอดกลีบดอก
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. เมื่อสุกสีดำ มีเมล็ด ๑-๒ เมล็ด
เข็มเขียวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบในที่ร่มหรือเชิงเขาหินปูน ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย
นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปเนื่องจากดอกมีกลิ่นหอมคล้ายดอกจันทน์กะพ้อ ดอกบานระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์.