ตรีชวา

Justicia betonica L.

ชื่ออื่น ๆ
หางกระรอก, หางแมว (กรุงเทพฯ)
ไม้กึ่งพุ่ม กิ่งเป็นรูปทรงกระบอก มีแถบเส้นสีเขียวเรียงยาวตลอดลำต้นและกิ่ง บริเวณข้อบวมพอง ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกหรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกตามปลายกิ่งและตามซอกใบ ใบประดับสีขาวหรือสีขาวอมเขียว มีเส้นแยกแขนงสีเขียวเห็นชัด ดอกสีขาว สีขาวอมเขียว หรือสีขาวอมชมพูม่วง กลีบดอกรูปปากเปิด ผลแบบผลแห้งแตก ๒ ซีก รูปทรงกระบอก ทรงรูปไข่กลับ หรือรูปคล้ายกระบองปลายแหลม เมล็ดขนาดเล็ก รูปทรงกลมหรือค่อนข้างกลมแบน มี ๔ เมล็ด ก้านเมล็ดเป็นตะขอรูปคล้ายเข็มปลายแหลม

ตรีชวาเป็นไม้กึ่งพุ่ม สูงได้ถึง ๑.๕ ม. กิ่งเป็นรูปทรงกระบอก มีแถบเส้นสีเขียวเรียงยาวตลอดลำต้นและกิ่ง กิ่งแก่เกลี้ยง บริเวณข้อบวมพอง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกหรือรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๓-๔ ซม. ยาว ๘-๑๑ ซม. ปลายแหลม โคนสอบเรียวหรือมน ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน มีผลึกหินปูนกระจายหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบนูนเล็กน้อยด้านบนนูนชัดด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๗ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เส้นแขนงใบและเส้นใบย่อยเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๕-๑๐ ซม. ด้านบนเป็นร่องตื้น ๆ มีขนละเอียด

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกตามปลายกิ่งและตามซอกใบ ยาว ๑๐-๑๓ ซม. ก้านช่อดอกรูปทรงกระบอกยาว ๓-๗ ซม. มีขนละเอียด แกนกลางช่อดอกมีขนละเอียด ใบประดับเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก สีขาวหรือสีขาวอมเขียว มีเส้นแยกแขนงสีเขียวเห็นชัด รูปไข่ กว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๑.๓-๑.๕ ซม. ติดทน ใบประดับย่อยรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. ใบประดับและใบประดับย่อยมีขนละเอียด ก้านดอกสั้นหรือไร้ก้าน ดอกสีขาว สีขาวอมเขียว หรือสีขาวอมชมพูม่วง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๔-๖ มม. ปลายแยกเป็นแฉกลึก ๕ แฉก รูปแถบหรือรูปใบหอกขนาดเกือบเท่ากัน ปลายเรียวแหลม มีขนสั้นนุ่มทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอกรูปปากเปิด ยาว ๑-๑.๔ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังแคบ ด้านนอกขนละเอียด ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๑ แฉก รูปสามเหลี่ยมแคบ ปลายมนหรือเว้าตื้น ซีกล่าง ๓ แฉก รูปขอบขนานมีขนาดใหญ่ ปลายมนโค้งพับลง มีเส้นกลีบสีชมพูแกมสีม่วง เกสรเพศผู้ ๒ เกสร ยาวพ้นหลอดดอก ก้านชูอับเรณูติดที่กลีบดอกซีกล่างโค้งเข้าหากัน อับเรณูรูปขอบขนานหรือรูปรี แต่ละอับเรณูมี ๒ พู พูล่างมีเดือย ๑ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่กลับหรือรูปทรงรี เกลี้ยงมี ๒ ช่องแต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาวยอดเกสรเพศเมียเป็น ๒ แฉก สั้น ๆ

 ผลแบบผลแห้งแตก ๒ ซีก รูปทรงกระบอก ทรงรูปไข่กลับ หรือรูปคล้ายกระบองปลายแหลม เมล็ดขนาดเล็ก รูปทรงกลมหรือค่อนข้างกลมแบน มี ๔ เมล็ด ผิวเป็นปุ่ม ก้านเมล็ดเป็นตะขอรูปคล้ายเข็มปลายแหลม

 ตรีชวาเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย และปลูกทั่วไปในเขตร้อนของทวีปแอฟริกา เอเซีย นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับได้ทั่วไปออกดอกและเป็นผลได้ตลอดปี.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตรีชวา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Justicia betonica L.
ชื่อสกุล
Justicia
คำระบุชนิด
betonica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
หางกระรอก, หางแมว (กรุงเทพฯ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.กนกอร เรืองสว่าง