ฉัตรพระอินทร์ชนิดนี่เป็นไม้ล้มลุกปีเดียว สูงได้ถึง ๓ ม. มักแตกกิ่งก้านดูคล้ายเป็นไม้พุ่มลำต้นและกิ่งเป็นสี่เหลี่ยม มีร่องตามยาว ๔ ด้าน มีขนสั้นนุ่มประปราย
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒.๕-๗ ซม. ยาว ๔.๕-๑๐ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม มนกลม หรือตัด ขอบหยักซี่ฟันหรือจักฟันเลื่อย แผ่นใบบางคล้ายเยื่อ มีขนสั้นนุ่มประปรายทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น ก้านใบเรียวเล็ก ยาว ๓-๗ ซม. มีขนสั้นนุ่มประปราย
ช่อดอกแบบช่อฉัตร ออกตามข้อ เส้นผ่านศูนย์กลางช่อ ๒.๕-๗ ซม. มีดอกจำนวนมาก ใบประดับรูปแถบแกมรูปใบหอก ยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ปลายมีติ่งผิวมีขนสั้นนุ่มประปรายทั้ง ๒ ด้าน ดอกสีส้ม กลีบเลี้ยงรูปปากเปิด ยาว ๑-๑.๕ ซม. โค้งเล็กน้อย เมื่อเป็นผลยาว ๑.๕-๒ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ปลายแยกเป็น ๘-๑๐ แฉก ขนาดไม่เท่ากันชี้ตรง แฉกบนยาวที่สุด หลอดกลีบเลี้ยงมีเส้นตามยาว ๘-๑๐ เส้น โคนมีขนสั้นนุ่มประปราย ปลายมีขนยาวสีขาว คอหลอดเบี้ยวเล็กน้อย กลีบดอกรูปปากเปิดยาว ๒-๒.๕ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวยแคบ ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แบ่งเป็น ๒ ซีก ซีกบนมี ๑ แฉก รูปรีแกมรูปขอบขนาน โค้งงุ้ม ยาวประมาณ ๑ ซม. ด้านนอกมีขนสีส้มหนาแน่น ซีกล่างมี ๓ แฉก ขนาดเล็ก แฉกข้าง ๒ แฉก รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยมแฉกกลางรูปขอบขนาน ปลายมน ภายในหลอดกลีบดอกมีวงขนสีขาว ๓ วง เกสรเพศผู้ ๔ เกสร เรียงเป็น ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน โค้งลงเล็กน้อย อยู่ภายใต้กลีบดอกซีกบน ก้านชูอับเรณูเกลี้ยง มีจานฐานดอกรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกลี้ยง มี ๔ พู แต่ละพูมีออวุล ๑ เม็ด โคนก้านยอดเกสรเพศเมียติดตรงกลางระหว่างพู ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ขนาดไม่เท่ากันแฉกบนสั้นมาก
ผลคล้ายผลย่อยเปลือกแข็งเมล็ดเดียว มี ๔ ผล ทรงรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปแถบ สีดำ ยาว ๒.๕-๓ มม. ปลายด้านหนึ่งตัดเมล็ดรูปคล้ายผล
ฉัตรพระอินทร์ชนิดนี่เป็นพรรณไม้ต่างประเทศมีถิ่นกำเนิดในแถบแอฟริกาเขตร้อน มีการกระจายพันธุ์ในเขตร้อนทั่วโลก แพร่พันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค พบขึ้นตามพื้นที่โล่งและที่รกร้างว่างเปล่าที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๔๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม เป็นผลเดือนธันวาคมถึงมีนาคม
ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ น้ำต้มจากต้นและใบใช้เป็นยาลดไข้ ใบใช้ตำพอกแก้แผลอักเสบ.