คนทาเป็นไม้พุ่ม ยอดอ่อนมีขน กิ่งมีหนามเล็ก แหลม ปลายโค้ง หนามจะมีขนาดใหญ่ขึ้นตามอายุของกิ่ง
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ยาว ๕-๑๕(-๒๐) ซม. มีใบย่อย ๕-๑๓ ใบ ออกเป็นคู่ ระหว่างคู่ใบย่อยมีแผ่นบางคล้ายครีบแคบ ๆ อยู่ ๒ ข้างของ แกนกลางใบ ใบย่อยรูปคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนหรือรูปไข่ กว้าง ๐.๕-๓ ซม. ยาว ๑-๔ ซม. ปลายมนหรือแหลม โคนมนหรือแหลมและเบี้ยว ขอบหยักหรือเป็นคลื่น แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีขนประปรายตามเส้นใบ
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงหรือช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่งและตามซอกใบ ช่อยาว ๓-๕ ซม. มีขนประปราย ก้านดอกยาว ๒-๓ มม. สีแดง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน กว้าง ๒-๓ มม. ปลายแยกเป็นแฉกเล็ก ๆ ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม กลีบดอกสีชมพูอมแดง มี ๔ กลีบ รูปแถบ กว้าง ๑.๕-๔ มม. ยาว ๖-๙ มม. ปลายแหลมด้านนอกสีขาวแกมแดง ด้านในสีขาว เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๐.๗-๑ ซม. โคนก้านมีขนอับเรณูเล็กมาก ฐานรังไข่เล็ก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๔-๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๔-๖ มม. ยอดเกสรเพศเมียค่อนข้างกลมแป้นขอบหยัก ๔-๕ หยัก
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปค่อนข้างกลม กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๔-๙ มม. เป็นพูตื้น ๔-๕ พู มีเนื้อเมล็ดเล็ก
คนทามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบตามป่าเบญจพรรณ ป่าแล้ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๙๐๐ ม. ออกดอก และเป็นผลเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศ พบที่หมู่เกาะอันดามัน จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน และ ภูมิภาคมาเลเซีย.
ประโยชน์ไทยใช้รากทำยาขับพิษไข้ อินโดนีเซียใช้ยอดอ่อนแก้ท้องเสีย เนื้อไม้ใช้ทำด้ามเครื่องมือการเกษตร.