กงกาง

Glossocarya premnoides Ridl.

ไม้เลื้อยหรือไม้พุ่มรอเลื้อย อาจมีหนามตามกิ่งแก่ ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ มีขนนุ่ม ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีขาว ผลแบบผลแห้งแตก รูปคล้ายทรงกระบอก

 กงกางเป็นไม้เลื้อยหรือไม้พุ่มรอเลื้อย กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม มีขนสั้นนุ่ม กิ่งแก่กลม อาจมีหนามสั้น ๆ อยู่ตรงข้ามกันเปลือกสีน้ำตาลหรือน้ำตาลปนเทา

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ กว้าง ๓.๕-๙ ซม. ยาว ๕-๑๑ ซม. ปลายแหลม โคนตัดหรือรูปหัวใจขอบเรียบ แผ่นใบคล้ายแผ่นหนัง ใบอ่อนมีขนสั้นนุ่มทั้ง ๒ ด้าน ใบแก่เกลี้ยงหรือมีขนตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบด้านล่างเส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น ปลายโค้งจรดกันใกล้ขอบใบก้านใบยาว ๐.๘-๑ ซม. ด้านบนเป็นร่องตื้น มีขน ใบประดับรูปไข่แกมรูปใบหอกหรือรูปใบหอกกลับ ขนาดเล็ก มีขนหนาแน่น

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่นมีก้านช่อย่อยอยู่ในระดับเดียวกัน ออกตามปลายกิ่ง กว้าง ๕-๑๕ ซม. ยาว ๔-๘ ซม. ก้านและแกนกลางมีขนนุ่ม ดอกสีขาว มีจำนวนมาก ยาว ๐.๘-๑ ซม. กลิ่นหอมอ่อน ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาว ๑-๒ มม. ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ปลายแหลม ๕ แฉก ด้านในหลอดเกลี้ยงด้านนอกมีขนหนาแน่น กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวยแคบ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปขอบขนาน ขนาดเกือบเท่ากัน แต่มี ๑ แฉกใหญ่กว่าแฉกขึ้นเล็กน้อย ปลายมน ด้านในเกลี้ยง ส่วนด้านนอกมีขน เกสรเพศผู้มี ๒ คู่ยาวไม่เท่ากันยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก อับเรณูสีดำ รูปรี แตกตามยาว ก้านชูอับเรณูสีขาว ติดด้านหลัง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปกลมมีขนหนาแน่น มี ๔ ช่อง ไม่สมบูรณ์ แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวเท่ากับก้านชูอับเรณู ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปคล้ายทรงกระบอก ปลายมนและ ใหญ่กว่าโคนเล็กน้อย ยาว ๕-๘ มม. มีขนยาวหนาแน่นบริเวณปลายผล ผลแก่แตกเป็น ๔ แฉก เมล็ดเล็ก รูปขอบขนานด้านที่ติดกับแกนกลางเป็นสัน อีกด้านหนึ่งกลมมน

 กงกางมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ ขึ้นตามพื้นที่เปิดโล่งริมลำธารหรือชายป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๓๐-๓๐๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม เป็นผลระหว่างเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กงกาง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Glossocarya premnoides Ridl.
ชื่อสกุล
Glossocarya
คำระบุชนิด
premnoides
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Ridley, Henry Nicholas
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1855-1956)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สมราน สุดดี