กุ่มบกเป็นไม้ต้น สูง ๖-๑๐ ม.
ใบประกอบแบบนิ้วมือมีสามใบย่อย ก้านใบประกอบยาว ๗-๙ ซม. ใบย่อยรูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๔-๖ ซม. ยาว ๗.๕-๑๑ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ ใบย่อยที่อยู่ด้านข้างโคนใบเบี้ยว แผ่นใบค่อนข้างหนา เส้นแขนง ใบข้างละ ๔-๕ เส้น ก้านใบย่อยยาว ๔-๕ มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบใกล้ปลายยอดดอกสีขาวอมเขียวแล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือชมพูอ่อน ก้านดอกยาว ๓-๗ ซม. กลีบเลี้ยงรูปรี กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๔-๕ มม. เมื่อแห้งมักเป็นสีส้ม กลีบดอกรูปรี กว้าง ๐.๘-๑.๕ ซม. ยาว ๑.๒-๑.๘ ซม. โคนกลีบเป็นเส้นคล้ายก้าน ยาว ๓-๗ มม. เกสรเพศผู้สีม่วง มี ๑๕-๒๒ อัน ก้านชูอับเรณู ยาวประมาณ ๔ ซม. ก้านชูเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๕ ซม. รังไข่ค่อนข้างกลมหรือรี มี ๑ ช่อง
ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓.๕ ซม. เปลือกมีจุด แต้มสีน้ำตาลอมแดง เมื่อแก่เปลือกเรียบ ก้านผลกว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๕-๑๓ ซม. เมล็ดรูปคล้ายเกือกม้าหรือรูปไต กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. ผิวเรียบ
กุ่มบกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นบนดินทราย ตามป่าผลัดใบ เขาหินปูน และป่าไผ่ ที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๓๕๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน เป็นผลระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ ไต้หวัน อินเดีย ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย
เปลือกต้นใช้เป็นยาระงับประสาทและยาบำรุง ใบและเปลือกรากใช้ทาถูนวดให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นมาก ๆ (Perry and Metzger, 1980).