กุ่มน้ำ

Crateva magna (Lour.) DC.

ชื่ออื่น ๆ
รอถะ (ละว้า-เชียงใหม่), เหาะเถาะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), อำเภอ (สุพรรณบุรี)
ไม้ต้น ใบประกอบแบบนิ้วมือมีสามใบย่อย ใบย่อยรูปใบหอกหรือรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจะถี่ ออกที่ยอดดอกสีขาวแล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง เกสรเพศผู้สีม่วงผลสีนวล รูปรี

กุ่มน้ำชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูง ๕-๒๐ ม.

 ใบประกอบแบบนิ้วมือมีสามใบย่อย ก้านใบประกอบยาว ๔-๑๔ ซม. หูใบเล็ก ร่วงง่าย ใบย่อยรูปใบหอกหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๖.๕ ซม. ยาว ๔.๕-๑๘ ซม. ปลายค่อย ๆ


เรียวแหลม ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. โคนสอบ ใบย่อยที่อยู่ด้านข้างโคนใบเบี้ยวเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างหนาเป็นมัน ด้านล่างสีอ่อนกว่าด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๒๐ เส้น บางครั้งพบมีถึงข้างละ ๒๒ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ใบแห้งสีค่อนข้างแดง ใบย่อยไม่มีก้าน หรือถ้ามียาวไม่เกิน ๕ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะถี่ ออกที่ยอด ช่อหนึ่งมีหลายดอก ดอกสีขาวแล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง ก้านดอกยาว ๔-๗ ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ปลายแหลม กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๒-๔ มม. กลีบดอกค่อนข้างกลมหรือรี กว้าง ๑-๒.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๓ ซม. โคนกลีบเป็นเส้นคล้ายก้าน ยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. เกสรเพศผู้สีม่วง มี ๑๕-๒๕ อัน ก้านชูอับเรณูยาว ๓.๕-๖.๕ ซม. อับเรณูยาว ๒-๓ มม. ก้านชูเกสรเพศเมียยาว ๓.๕-๘ ซม. รังไข่รูปรีหรือทรงกระบอก มี ๑ ช่อง

 ผลสีนวล รูปรี กว้าง ๑.๕-๔.๕ ซม. ยาว ๕-๘ ซม. เปลือกผลมีนวล ก้านผลยาว ๘-๑๓ ซม. หนา ๓-๕ มม. มีเมล็ดมาก สีน้ำตาลเข้ม รูปเกือกม้า กว้างและยาว ๖-๙ มม.

 กุ่มน้ำชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นทั่วไปตามริมฝั่งแม่น้ำ บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๓๐-๗๐๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนธันวาคมถึงเมษายน เป็นผลระหว่างเดือนเมษายนถึงกันยายนในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ใช้เป็นยาแผนโบราณ เปลือกต้นใช้เป็นยาระงับพิษที่ผิวหนัง แก้ไข้ ขับน้ำเหลืองเสีย เป็นยาบำรุง (Chopra, Nayar and Chopra, 1956; Dastur, 1952; Suwal, 1970) เป็นยาเจริญอาหาร ยาระบาย ใช้เป็นยาถูนวดให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นมาก ๆ (Suwal, 1970)

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กุ่มน้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Crateva magna (Lour.) DC.
ชื่อสกุล
Crateva
คำระบุชนิด
magna
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de
- Candolle, Augustin Pyramus de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de (1717-1791)
- Candolle, Augustin Pyramus de (1778-1841)
ชื่ออื่น ๆ
รอถะ (ละว้า-เชียงใหม่), เหาะเถาะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), อำเภอ (สุพรรณบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต