กุนนก

Scolopia spinosa (Roxb.) Warb.

ชื่ออื่น ๆ
ไทรโข (นครศรีธรรมราช)
ไม้ต้น ต้นอ่อนและกิ่งอ่อนมีหนามแบบแตกแขนง ใบเรียงเวียน รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน มีต่อมใกล้โคนใบช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบ ดอกสีขาวอมเทาถึงสีเหลือง มีจานฐานดอก ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด เมล็ดสีแดง

กุนนกเป็นไม้ต้น สูง (๓)-๖-๑๕-(๒๗) ม. ต้นอ่อนและกิ่งอ่อนมีหนามแบบแตกแขนง ต้นแก่ไม่มีหนาม เปลือกเรียบสีเทาหรือสีน้ำตาล

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๘ ซม. ยาว ๗-๑๘ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือมน โคนเบี้ยว รูปลิ่มถึงกลม มีต่อมที่โคน ๑ คู่ ขอบค่อนข้างเรียบหรือหยักมน แผ่นใบค่อนข้างหนา เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น เส้นใบคู่ล่างยาวเรียวโค้งขึ้นด้านบน ก้านใบยาว ๐.๖-๑.๒ ซม. ใบอ่อนสีชมพู

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบ ยาว ๒-๔.๕-(๘) ซม. มีขนแน่น ก้านดอกยาว ๐.๖-๑.๑ ซม. ดอกสีขาวอมเทาถึงสีเหลือง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๕-๖-(๗) กลีบ กลีบเลี้ยงรูปไข่ กว้าง ๒-๔ มม. กลีบดอกรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง ๓-๕ มม. เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูยาว ๓-๕ มม. ฐานดอกมีขน มีจานฐานดอก ไม่มีต่อมที่จานฐานดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๖-๒๐ เม็ด ติดตามแนวตะเข็บ ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๔-๖ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก ๆ

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สีเขียวถึงสีม่วงรูปรีถึงรูปรีแกมรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒.๕ ซม. มักมีติ่งแหลมอ่อนหรือเป็นจุกเล็ก ๆ ผนังผลหนา ๑-๒ มม. ผลแห้งสีดำ มี ๖-(๒๐) เมล็ด สีแดง รสขม

 กุนนกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขึ้นในป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง บริเวณดินที่มีหินปูน ที่สูงระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ ๑,๒๐๐ เมตร ในต่างประเทศพบที่พม่า หมู่เกาะนิโคบาร์ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย นิยมปลูกทั่วไป.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กุนนก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Scolopia spinosa (Roxb.) Warb.
ชื่อสกุล
Scolopia
คำระบุชนิด
spinosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
- Warburg, Otto
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William (1751-1815)
- Warburg, Otto (1859-1938)
ชื่ออื่น ๆ
ไทรโข (นครศรีธรรมราช)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาวกัลยา ภัทรหิรัญกนก