กุงเป็นไม้ล้มลุก ลักษณะคล้ายหญ้า
ใบเดี่ยว เรียงซ้อนสลับกันแน่นใกล้ผิวดิน รูปใบดาบ กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๕-๒๕ ซม. อาจยาวได้ถึง ๓๓ ซม. ปลายแหลม กาบใบสีชมพู ยาว ๑.๕-๗ ซม.
ช่อดอกแบบช่อเชิงลด แน่น รูปไข่หรือเกือบกลม กว้าง ๒-๘ มม. ยาว ๓-๙ มม. ก้านช่อดอกแบบก้านโดด เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ มม. ยาว ๑๐-๓๐ ซม. อาจยาวได้ถึง ๔๔ ซม. ใบประดับซ้อนเหลื่อมคล้ายเกล็ดปลา ไม่ร่วง ใบประดับตอนล่างรูปรี กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๒-๔ มม. ปลายมนหรือเว้าตื้น มีขนสั้น ๆ ตามแนวเส้นกลางใบ ขอบเรียบ สีน้ำตาล ใบประดับเหนือขึ้นไปรองรับดอกแต่ละดอกไว้ รูปรีถึงกลมหรือรูปไข่ กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๔-๖ มม. ปลายมน มีสันนูนรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๑-๒ มม. สูง ๑-๒ มม. สีเขียวอมเทา อยู่ที่ส่วนปลายของใบประดับ ขอบเรียบ สีน้ำตาลกลีบเลี้ยง ๓ กลีบ ไม่เท่ากัน กลีบข้าง ๒ กลีบ รูปเรือ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๓-๕ มม. ปลายค่อนข้างแหลม มีสัน
ผลแบบผลแห้งแตก เป็นกระเปาะ แก่จัดแตกเป็น ๓ เสี่ยง เมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก สีเหลือง
กุงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นในที่โล่ง ในนา และที่ชื้นแฉะ บนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูง ประมาณ ๑,๓๐๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่จีน อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และออสเตรเลีย.